การรักษา

การรักษา

การรักษาโรคมะเร็ง

สามารถเลือกใช้ได้หลายวิธีที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีทางเลือกมากมายที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งวิธีที่ใช้รักษาไม่จำเป็นต้องใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่สามารถใช้ผสมผสานกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

การรักษามะเร็งในปัจจุบัน มีหลายวิธี ดังนี้

1. การรักษาด้วยการผ่าตัด แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก คือ

1.1 การผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง เป็นการผ่าตัดเล็ก ได้แก่ การตัดชิ้นเนื้อ หรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ/แผลผิดปกติ เป็นการตรวจทางพยาธิวิทยาหรือเซลล์วิทยา เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อมะเร็งหรือไม่
1.2 การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก ได้แก่
1.2.1 การผ่าตัดเพื่อหายขาด การผ่าตัดโรคมะเร็งเพื่อหวังผลให้หายนั้น โอกาสดีที่สุด คือการผ่าตัดครั้งแรกต้องถูกต้องและเพียงพอ สามารถเอาส่วนของมะเร็งออกได้หมด และไม่มีเซลล์มะเร็งตกหล่นในบริเวณผ่าตัดนั้น
1.2.2 การผ่าตัดเพื่อประคับประคอง เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งมีการแพร่กระจายไปมากเกินที่จะรักษาในหายได้ด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพื่อลดอาการปวด ควบคุมเลือดออกจากมะเร็ง แก้ไขปัญหาการอุดตันของลำไส้หรือการติดเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ทรมานจากปัญหาแทรกซ้อน และช่วยยืดอายุผู้ป่วย

ชนิดของการผ่าตัดมะเร็ง แบ่งได้ดังนี้

  1. การผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนของก้อนเนื้อมะเร็งออก ( Local Resection) ใช้ในรายที่โรคมะเร็งยังอยู่เฉพาะในบริเวณที่กำเนิด หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งเข้าไปยังผิวหนังส่วนข้างเคียงเพียงไม่กี่มิลลิเมตรจากขอบจุดเริ่มต้น
  2. การผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนของมะเร็งที่มีการกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงออกด้วย ( Radical Local Resection) ใช้ในรายที่มะเร็งมีการกระจายแทรกไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงมากจากจุดเริ่มต้น เมื่อตัดจึงต้องเอาออกกว้าง ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อต้องเอากล้ามเนื้อนั้นออกทั้งมัดจากตำแหน่งจุดเริ่มต้นถึงจุดกระจาย แต่การผ่าตัดแบบนี้ต้องคำนึงถึงความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
  3. การผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนของมะเร็งที่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย (Radical Resection With En Bloc Excision Of Lymphatics) ใช้ในรายที่โรคมะเร็งที่จุดเริ่มต้มอยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงของส่วนนั้น เนื่องจากมะเร็งอาจมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดยที่บอกไม่ได้จากการตรวจคลำ ซึ่งจะมีผลช่วยให้การผ่าตัดรักษาดีขึ้น หรือช่วยในการพยากรณ์โรคต่อไป
  4. การผ่าตัดอย่างครอบคลุมกว้างขวาง (Extensive Radical Surgical Procedures) ทำในบางกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง แต่ยังไม่มีการกระจายไปที่ไกลๆ อาจมีโอกาสหายได้ เช่น การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เข้าไปในอวัยวะข้างเคียง อาจจะต้องตัดอวัยวะนั้น ๆ ในช่องเชิงกรานไปด้วย เช่น มดลูก รังไข่ เป็นต้น

**ข้อจำกัดของการผ่าตัด**

การผ่าตัดที่ไม่สามารถตัดเนื้อร้ายออกได้หมด เนื่องจากก้อนอยู่ติดกับอวัยวะทีสำคัญ ไม่รู้ขอบเขตของเซลล์มะเร็งที่แน่นอน หากตัดกว้างผู้ป่วยจะสูญเสียอวัยวะมากเกินไป ไม่สามารถตัดต่อมน้ำเหลืองออกได้หมด เช่น บริเวณคอมีต่อมน้ำเหลืองถึงประมาณ 150 ต่อม เป็นต้น การผ่าตัดไม่ได้สามารถลดการแพร่กระจายของโรคทางกระแสเลือด หรือน้ำเหลืองตลอดจนช่องโพรงต่างๆ ในกรณีเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากเกินไป จำเป็นที่จะต้องให้การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาเสียก่อน เพื่อให้เนื้อร้ายหดตัวมีขนาดเล็กลงง่ายต่อการผ่าตัด

2. การรักษาด้วยรังสีบำบัด หรือการฉายแสง

เป็นการรักษามะเร็งเฉพาะตำแหน่งที่วางแผนไว้ โดยใช้รังสีจากเครื่องกำเนิดรังสี (External Radiotherapy) ฉายไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยแพทย์เป็นผู้วางแผนให้มีผลต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยที่สุด โดยผู้ป่วยรับรังสีได้ 2 ทาง ดังนี้

2.1 รังสีรักษาแบบภายนอก ส่วนใหญ่จะฉายแสงวันละ 1 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ การรักษาใช้เวลา 2-10 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับโรคและชนิดของมะเร็ง ในระหว่างการฉายรังสี แนะนำให้ผู้ป่วยสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย เช่นผ้าฝ้าย และชุดที่ง่ายต่อการถอดใส่ หลีกเลี่ยงการทาแป้ง โลชั่น สบู่ หรือยาที่นอกเหนือจากแพทย์สั่งใสบริเวณที่ฉายรังสี
2.2 รังสีรักษาภายใน บางครั้งเรียกว่าการใส่แร่หรือฝังแร่ แหล่งกำเนิดรงสีจะถูกใส่เข้าไปภายในร่างกาย มักใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งหลอดอาหาร แบ่งเป็น 3 ชนิดคือ

    1. การให้รังสีแบบภายในโดยใช้อัตราปริมาณรังสีแบบต่ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 1-7 วัน และต้องอยู่โรงพยาบาล
    2. การให้รังสีแบบภายในโดยใช้อัตราปริมาณรังสีแบบสูง ใช้เวลารักษาประมาณ 10 ถึง 20 นาที 2 ครั้งต่อวัน ใน 2-5 วัน หรือสัปดาห์ละครั้งใน 2-5 สัปดาห์ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับชนิดของมะเร็ง โดยไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล
    3. การฝังแร่แบบถาวร รังสีจะอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้นต้องระวังในการเข้าใกล้เด็กและสตรีมีครรภ์

สำหรับการรักษา ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับทั้ง 2 วิธีร่วมกัน หลังการรักษา ถ้าเป็นการรักษาแบบการให้รังสีภายในโดยใช้อัตราปริมาณรังสีแบบต่ำ หรือการให้รังสีภายในโดยใช้อัตราปริมาณรังสีแบบสูง จะไม่มีรังสีตกค้างในร่างกาย ดังนั้นสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ควรจำกัดการทำกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะกิจกรรมหนัก ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ

*** หากผู้ป่วยมีความกังวล ซึมเศร้า กลัว อ่อนเพลีย หงุดหงิด สามารถแก้ไขความรู้สึกต่างๆ ได้โดย การหายใจเข้า-ออกช้า ๆ ฟังเพลงสบายๆ นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายเบาๆ อาทิ เดินเล่น โยคะ หรือการพูดคุยกับผู้อื่น จะทำให้ผ่อนคลายมากขึ้น***

สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรังสีรักษา

  • รังสีรักษาสามารถนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้
  • รังสีรักษาไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
  • การฉายรังสีไม่ทำให้ผู้รับรังสีนำพารังสีไปยังผู้อื่นได้
  • การฉายรังสีส่วนใหญ่จะนัดให้ผู้ป่วยมารับการรักษาทุกวันติดต่อกัน 5 วันและพัก 2 วัน (5 วันต่อสัปดาห์)
  • การมารับการฉายรังสีในแต่ละครั้ง ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่การรับรังสีจริงเมื่อผู้ป่วยอยู่ในห้องฉายรังสีตามลำพัง จะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยประมาณ 2-10 นาที
  • การพักผ่อนอย่างเพียงพอและการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะมีความสำคัญมากในระหว่างรับการฉายรังสี
  • ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยรังสี ส่วนใหญ่จะเป็นชั่วคราว ขึ้นอยู่กับอวัยวะของร่างกายที่ได้รับรังสี

การดูแลเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากรังษีรักษา

1. ถ่ายเหลว (Diarrhea)

  • รับประทานอาหารประเภทซุป 8-12 ถ้วยต่อวัน
  • รับประทานอาหารแต่ละมื้อปริมาณน้อยลง แต่เพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น
  • รับประทานอาหารอ่อน (หลีกเลี่ยงนมหรือไอศกรีม อาหารรสจัด อาหารที่มีใยอาหารสูง)
  • หลังจากขับถ่ายเสร็จ ไม่ควรใช้กระดาษทิชชูเช็ด เนื่องจากจะเสียดสีบริเวณทวารหนักและเป็นแผลได้ ควรใช้ผ้าหรือกระดาษนุ่มๆ เช็ดแทนฃ
  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

2. อ่อนเพลีย (fatigue)

  • นอนหลับอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงต่อคืน
  • ออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ,เดินเล่น

3. ผมร่วง

  • จะเกิดภายใน 2-3 สัปดาห์ ระหว่างการรักษา ถ้าปริมาณรังสีไม่สูงมากผมอาจจะขึ้นได้ใหม่ภายใน 3-6 เดือน (ผมที่ขึ้นมาใหม่จะไม่เหมือนเดิมอาจจะแข็ง บาง หยิก)
  • หลังจากจบการรักษาอาจจะใส่วิกผม สระผมเบาๆ สวมหมวกหรือคลุมผ้าเวลาไปข้างนอกเพื่อให้ศีรษะอบอุ่นเสมอ

4. การเปลี่ยนแปลงในช่องปาก

เกิดกับผู้ป่วที่ฉายรังสีบริเวณหู คอ จมูก ทำให้เจ็บปาก รับประทานอาหารน้อยลง ไม่รู้รสอาหาร น้ำลายแห้ง ฟันผุ วิธีการบรรเทาอาการ

  • ควรพบทันตแพทย์ก่อนฉายรังสี ดื่มน้ำบ่อยๆหรือใช้น้ำลายเทียมทำความสะอาดช่องปากทุกวันและหลังอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารที่เคี้ยวง่าย
  • พบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน

5. การเปลี่ยนแปลงระบบสืบพันธุ์

ในผู้หญิง เกิดการตีบแคบของช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง หมดประจำเดือน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (มีอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง) ในผู้ชายอาจเป็นหมัน สเปริ์มลดลง

วิธีการดูแล

  • ต้องพูดคุยกับสามี-ภรรยาของตนเองให้เข้าในใจผลข้างเคียงของการฉายรังสี
  • ปรึกษาแพทย์ถ้ายังต้องการมีบุตร โดยอาจจะเก็บสเปิร์ม หรือเก็บไข่ไว้ในอนาคต
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์ควรใช้สารหล่อลื่นต่างๆ เช่นK-Y Jelly
  • ในกรณีที่ช่องคลอดตีบแคบ ให้ใช้อุปกรณ์ขยายช่องคลอด

6. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง

  • เกิดบวมแดง คัน ผิวหนังแห้ง เป็นแผล ควรอาบน้ำด้วยสบู่อ่อนๆ ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หลีกเลี่ยงการขัดถูแรงๆ ใช้โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวตามที่แพทย์สั่ง สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้านุ่ม เช่น ผ้าฝ้าย ควรปรึกษาแพทย์ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังมาก

7. กลืนอาหารเจ็บ (หลอดอาหารอักเสบ)

  • รับประทานอาหารอ่อน (งดอาหารรสจัด อาหารร้อน อาหารแข็ง อาหารที่มีกรดสูง เหล้า บุหรี่) หลังจากรับประทานอาหารเสร็จควรยกศีรษะสูงหรือนั่งประมาณ 30 นาที รับประทานอาหารต่อมื้อปริมาณน้อยลงแต่บ่อยครั้งขึ้น ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาช่วยบรรเทาอาการได้

8. การเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินปัสสาวะ

อาจเกิดปัญหาปัสสาวะบล่อย แสบขัด หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ วิธีการดูแลมีดังนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์
  • ห้ามกลั้นปัสสาวะ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาช่วยบรรเทาอาการได้

9. ผลข้างเคียงเรื้อรัง ของรังสีรักษา

  • ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี ระยะเวลาในการรักษา รวมถึงการรักษาอื่นทีได้รับร่วมด้วย เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด เป็นต้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวที่เกิดขึ้น วิธีการรักษาและป้องกันรวมถึงอาการเริ่มแรกของการเกิดผลข้างเคียง

3. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

เป็นการรักษาที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดเป็นการขัดขวางการแบ่งเซลล์ การใช้เคมีมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิจัยทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้ยาเคมีบำบัด เนื่องจากหากสภาพผู้ป่วยไม่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้ว จะเกิดผลข้างเคียงมาก และเป็นอันตรายได้ เคมีบำบัดมีวิธีการให้ได้หลายวิธี

  1. Neoadjuvant Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดเป็นอันดับแรกก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ในผู้ป่วยมะเร็งเฉพาะที่
  2. Induction Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดเป็นอันดับแรกก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ในผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่เป็นมาก มักใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
  3. Adjuvant Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดภายหลังการรักษาด้วยวิธีการรักษาเฉพาะที่แล้ว เช่น การผ่าตัด หรือรังสีรักษา
  4. Palliative Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดเพื่อทุเลาอาการในผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นมากและรักษาไม่หายขาด
  5. Concomittent Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา
  6. Locoregional Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เป็นมะเร็ง
  7. Salvage Chemotherapy เป็นการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลับเป็นซ้ำ หรือรักษาไม่ได้ผลด้วยยาชนิดอื่น โดยให้ยาในขนาดที่มากพอและมีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นๆ

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด

4. ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) มีกลไกการยับยั้งการทำงานในเซลล์ผ่านตัวรับฮอร์โมน หรือผ่านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน มีความสำคัญในมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารชีวภาพในการรักษามะเร็ง (Biotherapy) เช่น ยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงไปมาก เนื่องจากมีการคิดค้นยาที่สามารถรักษามะเร็งได้โดยตรงเป้าหมาย มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะไม่ได้ไปทำลายเซลล์มะเร็งเหมือนเคมีบำบัด

5. การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษามะเร็งที่มีเป้าหมายที่กลไกการทำงานของเซลล์ การใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้านี้ไม่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ของยา การใช้ยาดังกล่าวจึงไม่ได้ผล ในทางกลับกัน แม้ว่าในมะเร็งนั้นมีเป้าการออกฤทธิ์ของยาก็ตาม เมื่อนำมาวิจัยแล้วอาจพบว่ายานั้นไม่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน

6. การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยปลูกถ่ายจากเซลล์ของตัวผู้ป่วยเอง จากเลือดในสายสะดือของผู้ป่วยเองซึ่งเก็บไว้ตั้งแต่แรกเกิด และจากไขกระดูกของคนในครอบครัวหรือผู้อื่น โดยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก แต่ในปัจจุบันแพทย์พยายามตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อหาเงินบริจาคสำหรับการรักษา/พยาบาลผู้ป่วย

7. การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ (palliation/palliative treatment/palliative care) คือการรักษาตัวโรคมะเร็ง แต่ไม่ใช่การรักษาเพื่อหายขาด เพราะโรคมะเร็งอยู่ในระยะที่ไม่มีวิธีการใดรักษาให้หายได้แล้ว หรือเป็นการรักษาตัวโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ พอที่จะทนหรือฟื้นตัวต่อผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาเพื่อหายขาดได้ เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ โดยยังคงให้การรักษาด้วยรังสีรักษา เคมีบำบัด การผ่าตัด ยาฮอร์โมน (ในโรคมะเร็งที่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมน) และ/หรือยารักษาตรงเป้าได้ เพื่อหวังผลเพียงบรรเทาอาการทรมานจากโรคมะเร็ง

8. อิมมูนบำบัด ( Immunotherapy) เป็นการรักษาโดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการกำจัดเซลล์มะเร็ง หรือสิ่งแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การใช้ อินเตอร์เฟียรอน (IFN) ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

9. การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก CAM (complementary and alternative medicine)
การแพทย์สนับสนุน (complementary medicine) คือการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการรักษาแบบไม่รุกราน (non invasive) มีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนน้อยหรือไม่มีเลย ที่สำคัญคือไม่ปฏิเสธ แต่ยอมรับการรักษาแผนปัจจุบัน (conventional medicine) นอกจากนี้ ยังใช้สนับสนุนการแพทย์แผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่น การทำสมาธิ การออกกำลังกายและศิลปะบำบัด

การแพทย์ทางเลือก (alternative medicine)

คือการรักษาโรคมะเร็งที่ปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ บางวิธีการยังเป็นการรักษาแบบรุกราน (invasive) และอาจมีผลข้างเคียงรวมถึงภาวะ แทรกซ้อนจากการรักษา เช่น การไม่ให้ผู้ป่วยฉายรังสีรักษา แต่ให้ยาสมุนไพร ใช้ยาพอกก้อนมะเร็ง เคาะ/ตี/แทงก้อนมะเร็ง หรือให้ผู้ป่วยอดอาหารแทน ซึ่งอาจมีผลด้านลบกับตัวผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยและญาติควรหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกการรักษา

สมุนไพรและผักพื้นบ้าน เป็นข้อมูลที่มักถูกแชร์ใน Social Media ว่าสามารถรักษามะเร็งหรือป้องกันมะเร็งได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีทั้งข้อมูลที่เป็นจริง ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้ว และเป็นข้อมูลที่กล่าวอ้างยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ผู้รับข้อมูลควรตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนแชร์ ให้กับผู้อื่น

สมุนไพรและผักพื้นบ้านที่สามารถใช้บำบัดโรคได้จะมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ

  • เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ปกติร่างกายจะมีกลไกในการกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเอง แต่เนื่องจากสภาวะแวดล้อมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายมีอนุมูลอิสระที่เกินกว่าที่จะกำจัดได้ ส่วนที่เหลือจึงทำความเสียหายเซลล์ในร่างกาย เมื่อสะสมมากๆ จึงก่อให้เกิดโรคได้ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิ ทยาลัยเกตรศาสตร์ได้ร่วมกับ Japan International Research Center for Agricultural Sciences ทำการศึกษาการออกฤทธิ์ของผักพื้นบ้านไทย ประมาณ 211 ตัวอย่างจาก 4 ภาค ทั่วไทยพบว่า ผักพื้นบ้านมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเนื่องส่วนใหญ่เป็นผักใบเขียว มีวิตามินเอ หรือเบต้าแคโรทีนสูงมาก ตัวอย่างเช่น มันปู ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะกอก พริกไทยอ่อน ผักกระเฉด สะระแหน่ ใบกะเพรา ขี้เหล็ก กระโดนบก ทำมัง ผักไผ่ สะเดา ฝักกระถิน ใบย่านาง ติ้ว ใบมะตูม หมุย กระโดนน้ำ ตำหยาน ใบมันเทศ ลูกฉิ่ง เหงือกปลาหมอ ผักแปม มะปราง ดอกข่า ใบแมงคะ ผักเฮือด ใบมะม่วงแก้ว แพงพวยน้ำ ผักขยา เม่า ซี่ปุ้ ไทรส้ม ยอดเมา หวาย สะเม็ก และ มะสัง เป็นต้น ซึ่งผักพื้นบ้านเหล่านี้ช่วยชะลอความเสื่อม และมีบทบาทในการรักษาโรคเรื้อรัง ได้เป็นอย่างดี

  • เป็นแหล่งของสารผัก หรือ สารพฤษเคมี

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าในพืชผัก ผลไม้ มีสารอาหารเพื่อการทำงานของเซลล์ เรียกว่า สารพฤษเคมี ซึ่งล้วนแต่เป็นสารเสริมภูมิต้านทานและเป็นสารต้านมะเร็ง จึงมีการรักษามะเร็งในแง่ของธรรมชาติบำบัดโดยมีหลักการดังนี้คือ ทำอย่างไรให้ก้อนมะเร็งเล็กลง ป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งและเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย กระบวนการเพิ่มภูมิต้านทานเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในการรักษา เนื่องจากป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งโตขึ้นมาอีกหลังจาก ผ่าตัด ฉายรังสี หรือรักษาด้วยเคมีบำบัดไปแล้ว ควรฟื้นภูมิต้านทานให้เม็ดเลือดขาวควบคุมเซลล์มะเร็งได้ด้วยตัวเอง จึงจะได้ผลในการรักษาดีกว่า การรับประทานผักสดและผลไม้สดปริมาณมากจึงสามารถต้านมะเร็งได้โดยการเพิ่มภูมิต้านทาน เนื่องจากมีสารจำเป็นสำหรับเสริมภูมิต้านทานได้แก่

  • เบต้าแคโรทีน ในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น มะละกอสุก มะปราง ฟักทอง
  • วิตามินซี มีบทบาทในการสร้างภูมิต้านมะเร็ง คือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันเซลล์ในร่างกายจากการเป็นมะเร็ง อีกทั้งยังช่วยเพื่อควมแข็งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวได้ พบว่าผักสดพบว่ามีวิตามินซีสูง

สารผัก (Phytonutrient) เช่น คลอโรฟิลล์ ฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ โดยสารที่เป็นองค์ประกอบในพืชผักมีคุณสมบัติยับยั้งการกลายพันธุ์ ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์กลายพันธุ์ และทำให้สารก่อกลายพันธุ์เสียคุณสมบัติ ผักพื้นบ้านของไทยจำนวนมากที่มีคุณสมบัติต้านการเกิดมะเร็งในขึ้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

  • ผักสมุนไรที่เป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก เช่น สายบัว บัวบก ผักกะเฉด ผักกูด ผักหนาม
  • เกลือแร่ เช่น โปแตสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เป็นต้น

การรับประทานผักและผลไม้สดให้มากและหลากหลายชนิด สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งลดลง จากการศึกษาพบว่า

  • มะเร็งปอดลดลง 20-30%
  • มะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 66-75%
  • มะเร็งเต้านมลดลง 33-50 % หากเริ่มกินผักผลไม้สดก่อนเป็นวัยรุ่น และ ลดลง 10-20% หากเริ่มกินผักผลไม้สดในวัยผู้ใหญ่
  • มะเร็งลำไส้ลดลง 66-75%
  • มะเร็งปากช่องคลอดลดลง 33-50%
  • มะเร็งตับลดลง 33-60 %
  • เป็นแหล่งของสารเส้นใย

ในสมุนไพรและผักพื้นบ้านมีเส้นใยอาหาร ได้แก่ เพคติน เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส เส้นใยอาหารไม่ได้ช่วยในการขับถ่ายเท่านั้น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าเส้นใยอาหารมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยป้องกันไขมันในเลือดสูง ป้องกันเบาหวาน ป้องกันโรคอ้วน และป้องกันโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเส้นใยอาหารชนิดกึ่งละลายน้ำจะควบคุมไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำจะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันมีอาหารเสริมที่เป็นสารเส้นใยอยู่มากมากยแต่ในผักพื้นบ้านของไทย เช่น มะเขือพวง มะระขี้นก มีสารเส้นใยสูงกว่าผักตลาดถึง 5 เท่า

  • เป็นแหล่งของยารักษาโรค

สมุนไพรและผักพื้นบ้านส่วนมากมีบทบาทต่อสุขภาพ เช่น ขิง ช่วยขับลม ช่วยย่อย , สะเดา ดอกแค สามารถใช้รักษาอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเวลาอากาศเปลี่ยน , ขี้เหล็ก เป็นยาระบาย เป็นต้น
ช่วยลดอาการข้างเคียงของผู้ป่วย อาทิ ผักรสขม ช่วยให้เจริญอาหาร กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย , รสเผ็ดร้อนของพริกช่วยกระตุ้นน้ำย่อย, ใบบัวบกที่ให้รสขมน้อยๆ มีสรรพคุณ ลดปวด ลดอาการอักเสบ

สมุนไพรและผักพื้นบ้านไทยมีประโยชน์กับสุขภาพ เมื่อผ่านการค้นคว้าวิจัย พบว่า สมุนไพรและผักพื้นบ้านมีบทบาทสูงในแง่ของสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารผักที่สามารถใช้ต้านโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็งอย่างได้ผล หากเราเลือกกินอาหารไทยที่ปรุงด้วยผักพื้นบ้านเป็นประจำโดยหมุนเวียนเลือกกินอาหารที่หลากหลายตามหลักทฤษฏีแผนไทยน่าจะช่วยให้ร่างกายมีความสมดุลทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ได้

ข้อมูลจากหนังสือโภชนบำบัด (ข้อมูลจาก)