การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กับการเกิดมะเร็ง

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กับการเกิดมะเร็ง

ในเดือนสิงหาคมของทุกปี มีวันสำคัญของคนไทยคือวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติค่ะ ดังนั้นในเดือนนี้ ป้าจึงขออนุญาตเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับคุณแม่โดยเฉพาะ นั่นก็คือเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเองค่ะ แล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกี่ยวข้องอะไรกับมะเร็ง ติดตามอ่านได้เลยค่ะ

ทำไมต้องนมแม่?

แน่นอนค่ะ ป้าคิดว่าเราคงทราบกันดีถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวคุณแม่เอง หรือประโยชน์สำหรับลูก แต่ป้าจะขออนุญาตเน้นประโยชน์ที่สำคัญมากอยู่ 2 ประการค่ะ

อันดับแรกคือประโยชน์ระยะสั้น การได้รับนมแม่สัมพันธ์กับโอกาสการติดเชื้อในทารกที่ลดลงค่ะ นอกจากสารอาหารในนมแม่ที่มีความเหมาะสมสำหรับลูกน้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่พบในนมแม่ก็คือสารประกอบทางชีวภาพหลาย ๆ ตัว ที่ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ค่ะ
อันดับสองคือประโยชน์ระยะยาว มีงานวิจัยที่พบว่า การที่ลูกได้รับนมแม่ สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคหอบหืด และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ลดลงในระยะยาวด้วยค่ะ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ แม่ที่ให้นมลูกเองก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 น้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกันค่ะ

นมแม่ป้องกันมะเร็ง?

สำหรับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง เราพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่ลดลง ทั้งในคุณแม่วัยก่อนหมดประจำเดือน และวัยหลังหมดประจำเดือนค่ะ เหตุผลสนับสนุนก็คือ ช่วงเวลาที่มีการให้นม แม่จะมีความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีปริมาณลดลง การที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงชั่วคราวในช่วงที่ให้นมลูก จะช่วยลดการกระตุ้นเซลล์ของเต้านมให้แบ่งตัวและเจริญเติบโตชั่วคราว ความเสี่ยงในการที่เซลล์เหล่านั้นจะเจริญเติบโตผิดรูปไปเป็นเซลล์มะเร็งจึงลดลงค่ะ

และยิ่งให้นมในระยะเวลาที่มากขึ้น ก็ยิ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมที่น้อยลงไปด้วยนะคะ มีงานวิจัยที่พบว่าทุก ๆ 12 เดือนของการให้นมลูก ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะลดลง 4.3% ค่ะ โดยที่ 12 เดือนนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการเลี้ยงลูกคนเดียวนะคะ หากคุณแม่มีลูก 2 คน นับช่วงเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมกัน 2 คนให้ครบ 12 เดือนก็ได้ประโยชน์ค่ะ และยิ่งให้นานกว่า 12 เดือน ก็จะยิ่งเห็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นค่ะ

สำหรับประโยชน์ต่อตัวลูกก็มีเช่นกันในทางอ้อมค่ะ เราพบว่าการให้นมลูกสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวและปริมาณไขมันในตัวลูกที่น้อยกว่าลูกที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่ในระยะยาว การมีไขมันสะสมในร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลาย ๆ ชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร ฯลฯ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกายแต่เนิ่น ๆ ด้วยการให้นมลูก จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ในทางอ้อมค่ะ

แล้วควรให้นมลูกนานแค่ไหนดี?

ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แนะนำว่าในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ทารกไม่ควรได้รับอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ (แม้กระทั่งน้ำดื่มนะคะ เพราะปริมาณน้ำในนมแม่เพียงพอสำหรับความต้องการของลูกค่ะ) หลังจาก 6 เดือนแล้วจึงเริ่มให้มื้ออาหารเสริม เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อการเจริญเติบโตค่ะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านมแม่หมดประโยชน์นะคะ คุณแม่ยังสามารถให้นมแม่ต่อไปได้ตราบเท่าที่ต้องการค่ะ นมแม่ยังคงมีประโยชน์สำหรับลูกอยู่เสมอค่ะ หากมีปริมาณนมแม่ที่เพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์นมผสมแต่อย่างใดค่ะ และอย่างที่ป้าได้บอกไปว่า ยิ่งให้นมลูกในระยะเวลาที่นานกว่า 6 เดือน ยิ่งส่งผลในการป้องกันมะเร็งสำหรับตัวแม่เองที่มากขึ้นค่ะ

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับการให้นมลูก และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนนะคะ เพราะนมแม่ก็เหมือนน้ำใจ ที่ยิ่งให้ เรายิ่งได้ ขอบคุณค่ะ

ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
Aune D, Norat T, Romundstad P, Vatten LJ. Breastfeeding and the maternal risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2014 Feb;24(2):107-15.
Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Breast cancer and breastfeeding: collaborative reanalysis of individual data from 47 epidemiological studies in 30 countries, including 50302 women with breast cancer and 96973 women without the disease. Lancet. 2002 Jul 20;360(9328):187-95.
Kramer MS, Kakuma R. Optimal duration of exclusive breastfeeding. Cochrane Database Syst Rev. 2012 Aug 15;(8):CD003517.
Victora CG, Bahl R, Barros AJ, França GV, Horton S, Krasevec J, et al. Breastfeeding in the 21st century: epidemiology, mechanisms, and lifelong effect. Lancet. 2016 Jan 30;387(10017):475-90.
Zhou Y, Chen J, Li Q, Huang W, Lan H, Jiang H. Association between breastfeeding and breast cancer risk: evidence from a meta-analysis. Breastfeed Med. 2015 Apr;10(3):175-82.