กินอย่างไร ห่างไกลมะเร็งเต้านม

กินอย่างไร ห่างไกลมะเร็งเต้านม

เมื่อพูดถึงชนิดของมะเร็งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย มะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้เป็นลำดับต้น ๆ ในคนไทยโดยเฉพาะในเพศหญิงนะคะ สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พบว่าในผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ที่เข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มะเร็งเต้านมนี่มาเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ โดยในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด (3,610 คน) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มีมากถึง 23.5% ที่เป็นมะเร็งเต้านมค่ะ โดยที่ใครที่คิดว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้ในเพศหญิงเท่านั้น คิดผิดนะคะ เพราะในเพศชายก็สามารถพบมะเร็งเต้านมได้ค่ะ แต่โอกาสเกิดนั้นน้อยกว่าเพศหญิงมากค่ะ (สถิติในปี พ.ศ. 2559 พบว่า 99.99% ของผู้ป่วยรายใหม่เป็นเพศหญิง) ดังนั้นข้อมูลที่มีส่วนใหญ่จึงเป็นข้อมูลที่มีการศึกษาในเพศหญิงค่ะ ขออภัยคุณผู้ชายทุกท่านด้วยนะคะ แต่เอาไว้ป้าจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายในโอกาสหน้าค่ะ

แน่นอน ในเมื่อสถิติออกมาเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่เราควรจะคำนึงถึงก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมดี มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ วันนี้ป้าจึงขออนุญาตเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเล่าให้ฟังค่ะ

การป้องกันมะเร็งเต้านมในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน

ก่อนอื่นป้าต้องอธิบายก่อนว่าทำไมถึงจำแนกตามอายุ (เป็นวัยก่อนและหลังหมดประจำเดือน) เพราะมีการศึกษาพบว่าปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมคือฮอร์โมนเอสโตรเจนค่ะ ผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนจะยังมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงอยู่ แต่ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมที่เกิดจากตัวฮอร์โมนเอสโตรเจนเองลดลงค่ะ แต่เราก็พบว่า ยิ่งผู้หญิงอายุมาก ความเสี่ยงโดยภาพรวมของการเกิดมะเร็งเต้านมก็จะสูงขึ้นอยู่ดีนะคะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม (แต่ไม่ใช่ในเรื่องของตัวฮอร์โมนเอสโตรเจน) ค่ะ

แล้วในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน ปัจจัยอะไรอีกบ้างคะที่เราสามารถปรับ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ข้อมูลจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาหาร โภชนาการ การใช้ชีวิต และการป้องกันการเกิดมะเร็ง) เพิ่งอัพเดทเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ได้ระบุคำแนะนำไว้ 4 ข้อค่ะ คือ

การออกกำลังกายหนัก (คือการออกกำลังกายที่ใช้แรงเยอะ ๆ ในระยะเวลาน้อย ๆ อย่างเช่นการยกน้ำหนัก วิดพื้น เป็นต้นค่ะ สังเกตง่าย ๆ คือเวลาเราออกกำลังกายแบบนี้ เราจะใช้แรงเยอะ และไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ค่ะ พูดได้ 2 – 3 คำก็ต้องหยุดพูดเพื่อพักหายใจแล้ว) ยิ่งออกเป็นประจำ ยิ่งลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมค่ะ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายเพื่อประเมินระดับการออกกำลังกายที่เหมาะสมก่อนนะคะ
ปริมาณไขมันในร่างกาย มีข้อมูลว่ายิ่งร่างกายมีปริมาณไขมันมาก ยิ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมที่มากขึ้นค่ะ ดังนั้นการดูแลการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ไม่ให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะมีส่วนช่วยในการควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย และทำให้ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมลดลงได้ค่ะ
การให้นมบุตร อันนี้ต้องขอบอกว่าเป็นโชคดีสำหรับผู้หญิงที่มีลูกนะคะ เพราะมีข้อมูลว่าการให้นมบุตร ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมของแม่ได้ในระยะยาวค่ะ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อมูลว่าความถี่และปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมที่มากขึ้นค่ะ โดยยิ่งดื่มบ่อยและดื่มในปริมาณมากต่อครั้ง ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มสูงขึ้นค่ะ

การป้องกันมะเร็งในเพศหญิงวัยหลังหมดประจำเดือน

แล้วหลังจากที่หมดประจำเดือนแล้ว มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ข้อมูลจากเท่าที่มีการศึกษา พบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และปริมาณไขมันในร่างกาย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงวัยหมดประจำเดือน โดยที่การมีกิจกรรมทางกาย (ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นกิจกรรมหนักเท่านั้นแล้วนะคะ) และการให้นมบุตร ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

ที่จะมีเพิ่มเติมเล็กน้อยก็คือเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าทุก ๆ น้ำหนักตัว 5 กิโลกรัมที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ที่สามารถคงน้ำหนักตัวไว้เท่าเดิมตลอดช่วงอายุวัยผู้ใหญ่ค่ะ

จะสังเกตว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกินและการออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ก็คือพฤติกรรมสุขภาพที่เราแนะนำกันโดยทั่วไปอยู่แล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกกำลังกาย การรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เหมาะสม การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการให้นมบุตร แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่เราทำโดยทั่วไป แต่มีงานวิจัยรองรับนะคะว่ายิ่งปฏิบัติตาม ความเสี่ยงยิ่งลดลง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าจริง ๆ การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่ได้ยาก และไม่ได้ต้องใช้กำลังทรัพย์ใด ๆ มากมายเลยค่ะ เพียงแค่เราค่อย ๆ ปรับ เลือกสิ่งที่เราทำได้ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไป เท่านี้เองเราก็สามารถมีพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืน และในระยะยาวก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ค่ะ ป้าเป็นกำลังใจให้นะคะ

ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ.
McPherson K, et al. ABC of breast diseases. Breast cancer epidemiology, risk factors, and genetics. BMJ. 2000;321:625-8.
World Cancer Research Fund/American Institute for Cancer Research. Continuous Update Project Expert Report 2018. Diet, nutrition, physical activity and breast cancer. 2018. Available at dietandcancerreport.org