น้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อ กับ มะเร็ง

น้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อ กับ มะเร็ง

เมื่อพูดถึงปัญหาทางโภชนาการที่สำคัญในคนไข้มะเร็ง ปัญหาอันดับต้น ๆ ที่มักจะพบเจอได้ก็คือเรื่องของภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ค่ะ งานวิจัยระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นวินิจฉัย ตรวจพบมะเร็ง ประมาณ 50% ของคนไข้ก็เริ่มมีปัญหาทางโภชนาการแล้วค่ะ และในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน อุบัติการณ์ของภาวะทุพโภชนาการอาจจะมากถึง 85% เลยค่ะ (คนไข้สิบคน มีทุพโภชนาการเกือบเก้าคน)

ทุพโภชนาการแล้วทำไม?

ทำไมปัญหาทุพโภชนาการถึงเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ ก็เพราะเราพบว่าการเกิดภาวะทุพโภชนาการในคนไข้มะเร็ง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสในการติดเชื้อระหว่างการรักษาเพิ่มสูงขึ้น หากมีการผ่าตัดร่วมด้วย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และการฟื้นตัวก็จะช้าขึ้นค่ะ และที่สำคัญที่สุดคือจะลดประสิทธิผล รวมถึงเพิ่มผลข้างเคียงของการรักษา (เคมีบำบัด – รังสีรักษา) จนอาจจะต้องยืดระยะเวลาในการรักษาออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยค่ะ เพราะนอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งคนไข้และผู้ดูแลอีกด้วย

น้ำหนักตัวกับภาวะทุพโภชนาการ

ตัวชี้วัดหนึ่งที่ค่อนข้างมีความสำคัญในการวินิจฉัยภาวะทุพโภชนาการ ก็คือน้ำหนักตัวที่ลดลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเองค่ะ ข้อมูลพบว่าน้ำหนักที่ลดลงโดยไม่ตั้งใจ แม้เพียง 5% ก็สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นค่ะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเลยที่เราจะต้องดูแลน้ำหนักตัวให้คงที่ เพื่อให้การรักษามะเร็งทำได้อย่างต่อเนื่องค่ะ

แต่จากการศึกษาลึกลงไปเกี่ยวกับน้ำหนักตัวในคนไข้มะเร็ง เราพบว่าส่วนที่สำคัญคือมวลกล้ามเนื้อค่ะ ต้องเล่าก่อนว่าน้ำหนักตัวของคนเราจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งมวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นร่างของเราค่ะ งานวิจัยพบว่ามวลกล้ามเนื้อมักเป็นส่วนที่มีการลดลงอย่างมากในคนไข้มะเร็งค่ะ มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง สัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้น คนไข้ที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถทนขนาดยาเคมีบำบัดที่สูง ๆ ได้ หรือจำเป็นต้องชะลอการให้ยาออกไปแทนที่จะได้ตามกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตต่ำลงค่ะ

มวลกล้ามเนื้อน้อยพบได้ในทุกน้ำหนักตัว

เนื่องจากการวัดมวลกล้ามเนื้อนั้นทำได้ยากในทางปฏิบัติ (อย่างไรก็ตามเริ่มมีการวัดองค์ประกอบของร่างกายที่เรียกว่า Bioelectrical Impedance Analysis หรือ BIA ใช้งานกันมากขึ้นตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วนะคะ) เราจึงมักใช้น้ำหนักตัวเป็นตัวชี้วัดหลัก ๆ เนื่องจากทำได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่ายมากค่ะ อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้ง เราไม่สามารถดูแค่ตัวเลขน้ำหนักแล้วประเมินภาวะโภชนาการได้เลยนะคะ เพราะคนไข้มะเร็งที่มีน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน ก็ไม่ได้หมายความว่ามวลกล้ามเนื้อจะมากตามนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้มะเร็งที่มีน้ำหนักเกินมาก ๆ แล้วน้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ ถึงแม้จะลดเยอะ แต่โดยภาพรวมคนไข้ก็จะยังคงดูรูปร่างใหญ่อยู่ ทำให้หลาย ๆ ครั้งเราคิดว่าคนไข้ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจริง ๆ แล้วคนไข้เกิดภาวะทุพโภชนาการแล้ว ก็มีนะคะ

ภาพตัวอย่างในรูปด้านบนคือภาพตัดขวาง CT Scan ของคนไข้มะเร็งสามคนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) แตกต่างกัน คนไข้ด้านซ้ายสุดมี BMI = 17 (ผอม) คนกลางมี BMI = 25 (น้ำหนักเกิน) และคนขวามี BMI = 38 (อ้วน) จะสังเกตว่าแถบสีแดง ๆ (ซึ่งก็คือมวลกล้ามเนื้อ) แทบไม่แตกต่างกันเลยค่ะในคนไข้ทั้งสามราย ส่วนที่แตกต่างคือส่วนของสีเหลือง (ไขมันในช่องท้อง) และสีฟ้า (ไขมันใต้ผิวหนัง) เท่านั้นค่ะ นั่นก็หมายความว่า ด้วยเหตุผลที่มวลกล้ามเนื้อที่เท่ากัน คนไข้ทางขวาจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการรักษาไม่แตกต่างจากคนซ้ายเท่าไหร่เลยค่ะ

ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่ป้าอยากจะเน้นสำหรับวันนี้ก็คือ น้ำหนักตัวเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการประเมินภาวะโภชนาการของคนไข้มะเร็งนะคะ อย่างไรก็ตาม การดูเพียงแค่ตัวเลขน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถระบุได้ถึงปริมาณมวลกล้ามเนื้อโดยตรง (จากตัวอย่างที่ได้เห็นในรูป) ดังนั้นในการประเมินน้ำหนักตัว จำเป็นต้องประเมินประวัติน้ำหนักควบคู่ไปด้วยเสมอค่ะ ดูว่ามีประวัติน้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ ถ้ามี หรือเริ่มเห็นสัญญาณของน้ำหนักตัวที่ลดลง ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ ไม่ว่าน้ำหนักตั้งต้นหรือน้ำหนักปัจจุบันจะน้อย ปกติ หรือมากก็ตามค่ะ 🙂

ขอให้ทุกท่านรับประทานอาหารอย่างปลอดภัยและมีความสุขค่ะ 🙂
ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
Angkatavanich J, et al. PP081-SUN Study on food acceptance and food ingredients of choice in cancer patients receiving chemotherapy. Clin Nutr (Suppl). 2011; 6(1): 54.
Fearon K, Arends J, Baracos V. Understanding the mechanisms and treatment options in cancer cachexia. Nat Rev Clin Oncol. 2013; 10(2): 90-9.
Halpern-Silveira D, Susin LR, Borges LR, Paiva SI, Assunção MC, Gonzalez MC. Body weight and fat-free mass changes in a cohort of patients receiving chemotherapy. Support Care Cancer. 2010; 18(5): 617-25.
Hébuterne X, Lemarié E, Michallet M, de Montreuil CB, Schneider SM, Goldwasser F. Prevalence of malnutrition and current use of nutrition support in patients with cancer. JPEN J Parenter Enteral Nutr. 2014; 38(2): 196-204.
Marín Caro MM, Laviano A, Pichard C. Nutritional intervention and quality of life in adult oncology patients. Clin Nutr. 2007; 26(3): 289-301.
Prado CM, Baracos VE, McCargar LJ, Reiman T, Mourtzakis M, Tonkin K, et al. Sarcopenia as a determinant of chemotherapy toxicity and time to tumor progression in metastatic breast cancer patients receiving capecitabine treatment. Clin Cancer Res. 2009; 15(8): 2920-6.
Prado CM, Lieffers JR, McCargar LJ, Reiman T, Sawyer MB, Martin L, Baracos VE. Prevalence and clinical implications of sarcopenic obesity in patients with solid tumours of the respiratory and gastrointestinal tracts: a population-based study. Lancet Oncol. 2008; 9(7): 629-35.
Tan BH, Birdsell LA, Martin L, Baracos VE, Fearon KC. Sarcopenia in an overweight or obese patient is an adverse prognostic factor in pancreatic cancer. Clin Cancer Res. 2009; 15(22): 6973-9.