อาหารสุกสะอาดกับการติดเชื้อในโรคมะเร็ง

อาหารสุกสะอาดกับการติดเชื้อในโรคมะเร็ง

เวลาพูดถึงเรื่องของอาหารกับโรคมะเร็ง เชื่อว่าในมุมมองของคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่ผ่านการรักษาโรคมะเร็งมาจนหายแล้ว ประเด็นที่มักจะมาเป็นลำดับต้น ๆ ก็คือเรื่องของอาหารปลอดภัย (food safety) นั่นเองค่ะ ประสบการณ์ของป้าเองพบว่าคนไข้หลาย ๆ คนมีความกังวลมากถึงมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นห่วงทั้งเรื่องของความสะอาด เชื้อโรค ไปจนถึงการปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษที่อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอีกรอบ จนในบางครั้งทำให้เกิดความเครียดเป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นไปอีก เรื่องของอาหารปลอดภัยเองก็มีเรื่องราวให้พูดกันเยอะแยะมากค่ะ วันนี้ป้าเลยขออนุญาตหยิบมาเล่าให้ฟังประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องของอาหารสุกสะอาด (neutropenic diet) ค่ะ

ทำไมต้องสุกสะอาด?

หลาย ๆ คนที่ผ่านกระบวนการรักษามะเร็งมาแล้ว (โดยเฉพาะเคมีบำบัด) น่าจะคุ้นเคยกับคำว่าอาหารสุกสะอาด หรือ neutropenic diet มาบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ แน่นอนว่าในช่วงเวลาของการให้เคมีบำบัด การดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยมีความสำคัญมาก ยิ่งในช่วงที่ให้เคมีบำบัดแล้วเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ยิ่งต้องมีความระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อเป็นพิเศษค่ะ แพทย์จึงมักสั่งอาหารสุกสะอาดให้คนไข้รับประทานในระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล จนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้น (ร่างกายฟื้นตัว) เพื่อจุดประสงค์ในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลค่ะ
แล้วอาหารสุกสะอาดคืออะไร? ความน่าสนใจก็คือในแต่ละโรงพยาบาล คำนิยามของอาหารสุกสะอาดก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อยค่ะ โดยทั่วไปอาหารสุกสะอาด นอกจากจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยทั่วไปของโรงพยาบาลแล้ว มักจะงดอาหารบางชนิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้สด นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ อาหารหมักดอง หรือแม้แต่น้ำผลไม้คั้นสดก็ตามค่ะ แต่บางโรงพยาบาลก็จะอนุโลมให้คนไข้สามารถบริโภคผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกได้ หากล้างเปลือกให้สะอาดก่อนแล้วจึงปอกแล้วบริโภคทันทีค่ะ

สุกสะอาดแล้วดีจริงหรือไม่?

จริง ๆ แนวคิดเรื่องอาหารสุกสะอาดก็สมเหตุสมผลดีนะคะ แต่ในบริบทของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราคงต้องทำการทดลองเพื่อดูหลักฐานเชิงประจักษ์ค่ะ มีการทบทวนงานวิจัยโดย Cochrane Collaboration ในปี 2016 พบว่าการให้อาหารสุกสะอาด หรืออาหารแบคทีเรียต่ำ (low-bacterial diet) เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทั่วไปในโรงพยาบาล (ที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย) ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์ของการติดเชื้อในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใดค่ะ อย่างไรก็ตาม จำนวนงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะได้ข้อสรุปว่า ตกลงแล้วเราควรแนะนำอาหารสุกสะอาดให้กับคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วเม็ดเลือดขาวต่ำหรือไม่ ดังนั้นข้อสรุปที่เราได้จากการทบทวนงานวิจัยในขณะนี้คือ “เรายังตอบไม่ได้ค่ะ”

หลายท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้แล้วอย่าเพิ่งตีป้านะคะ สาเหตุที่ป้าบอกว่า ป้ายังตอบไม่ได้ ก็เพราะว่าถึงแม้การทบทวนงานวิจัยจาก Cochrane จะบอกเราว่าดูเหมือนว่าจะไม่พบความแตกต่างระหว่างการให้อาหารสุกสะอาดกับอาหารทั่วไปที่ปลอดภัย แต่เพราะข้อมูลที่เรามีในมือยังน้อยมาก เราจึงยังถือว่าตอนนี้ยัง “ไม่มีหลักฐานว่าได้ผล” (no evidence of effect) ซึ่งมันแตกต่างกับการที่เราบอกว่า “มีหลักฐานว่าไม่ได้ผล” (evidence of no effect) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่มากกว่านี้ และงานวิจัยต้องให้ผลลัพธ์ไปในทางเดียวกันค่ะ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วค่ะ ว่าจะใช้นโยบายแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือจะใช้นโยบายแบบ “ยึดตามหลักฐานที่มีในปัจจุบัน” ค่ะ อันที่จริงการบริโภคอาหารสุกสะอาดเป็นระยะเวลานานก็มีข้อที่ควรกังวลเหมือนกันนะคะ เพราะคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัดมักได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา ทำให้ความอยากอาหารลดลง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอื่น ๆ ด้วยอยู่แล้ว หากยิ่งจำกัดอาหารมากขึ้น ก็อาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงอาจทำให้บริโภคอาหารได้น้อยลง เพราะมีตัวเลือกที่จำกัดด้วยค่ะ ดังนั้นเราคงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเช่นค่ะ

แล้วจะกินอย่างไรดี?

ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องมีเป็นพื้นฐานเลยก็คือสุขอนามัยอาหาร และการเตรียมอาหารอย่างปลอดภัยค่ะ โดยทั่วไป แนวทางปฏิบัติเพื่ออาหารปลอดภัยมีดังนี้ค่ะ

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ทุกครั้งที่เตรียมอาหาร ควรระมัดระวังความสะอาดทุกขั้นตอน ล้างมือก่อนและหลังเตรียมอาหาร ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกก่อนหรือไม่
  • ระมัดระวังเวลาเตรียมเนื้อสัตว์ ปลา ไก่ ไข่ อย่าใช้เขียงร่วมกันระหว่างอาหารดิบและสุกเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารดิบไปสู่อาหารสุกได้
  • ล้างภาชนะอุปกรณ์ในการเตรียมอาหาร อุปกรณ์การรับประทานอาหาร รวมถึงฟองน้ำล้างจานที่สัมผัสกับวัตถุดิบโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ดิบให้สะอาดทุกครั้งหลังการประกอบอาหาร เช็ดพื้นที่เตรียมอาหารให้สะอาดด้วย
  • ประกอบอาหารให้ได้ตามอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่บริโภคอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์
  • เก็บอาหารที่บริโภคไม่หมดในตู้เย็น (< 4 องศาเซลเซียส) ทันทีเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
  • เมื่อไปรับประทานอาหารข้างนอก ระมัดระวังในการเลือกร้านอาหารและการสั่งอาหารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อโรคได้
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม หรือน้ำผลไม้ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์
ขอให้ทุกท่านรับประทานอาหารอย่างปลอดภัยและมีความสุขค่ะ 🙂
ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
Caceres J. Low microbial diet in the oncology patient: What we know versus what we don’t know. Oncology Nutrition Connection. 2015; 23(1): 10-11.
van Dalen EC, Mank A, Leclercq E, Mulder RL, Davies M, Kersten MJ, van de Wetering MD. Low bacterial diet versus control diet to prevent infection in cancer patients treated with chemotherapy causing episodes of neutropenia. Cochrane Database Syst Rev. 2016; 4: CD006247.
Foster M. Reevaluating the neutropenic diet: time to change. Clin J Oncol Nurs. 2014; 18(2): 239-41.
Moody K, et al. Feasibility and safety of a pilot randomized trial of infection rate: neutropenic diet versus standard food safety guidelines. J Pediatr Hematol Oncol. 2006; 28(3): 126-33.
Rock CL, Doyle C, Demark-Wahnefried W, Meyerhardt J, Courneya KS, Schwartz AL, et al. Nutrition and physical activity guidelines for cancer survivors. CA Cancer J Clin. 2012; 62(4): 243-74.
Smith LH, et al. Dietary restrictions for patients with neutropenia: a survey of institutional practices. Oncol Nursing Forum. 2000; 27(3): 515-20.