ดื่มนม เร่งมะเร็ง จริงหรือไม่?

ดื่มนม เร่งมะเร็ง จริงหรือไม่?

ถ้าพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับอาหารและมะเร็ง เชื่อว่าอาหารชนิดหนึ่งที่มักจะมีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งก็คือนมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมวัว หากลองดูในอินเทอร์เน็ต จะพบว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนมและมะเร็งจะแบ่งออกเป็นสองทาง บ้างก็บอกว่าห้ามดื่มนมเพราะมันจะเร่งมะเร็ง บ้างก็บอกว่าดื่มนมได้ ไม่เป็นไร แล้วข้อเท็จจริงทางการแพทย์นั้นเป็นอย่างไร? ติดตามในบทความนี้กับป้าได้เลยค่ะ

ทำไมนมถึง(อาจ)เร่งมะเร็งได้?

ข้อมูลที่มีการกล่าวอ้างว่านมเร่งมะเร็งนั้น โดยมากจะอธิบายด้วยสองเหตุผลใหญ่ คือ

  1. การดื่มนมทำให้เลือดเป็นกรด ทำให้สมดุลร่างกายเสีย เป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งตามมา
  2. โปรตีนในนมวัวนั้นมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต

เมื่อประกอบกับข้อมูลงานวิจัยที่พบว่า ประเทศที่มีอัตราการดื่มนมมาก ก็มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมมากขึ้น ก็จะได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นที่มาของคำกล่าวอ้างว่า การดื่มนมเร่งมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม” นั่นเองค่ะ

แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?

เมื่อตรวจสอบข้อมูลงานวิจัย จะพบว่าคำกล่าวอ้างที่บอกว่าการดื่มนมทำให้เลือดเป็นกรดนั้นไม่เป็นความจริง มีงานวิจัยหลายงานที่พบตรงกันว่าการดื่มนมไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่าง ทั้งในปัสสาวะและในร่างกาย (เลือด) ด้วย นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างที่ว่าโปรตีนในนมวัวมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตนั้น ก็ต้องอธิบายว่ามะเร็งสามารถใช้สารอาหาร คือคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เพื่อให้เจริญเติบโตอยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตชนิดใดที่ร่างกายย่อยได้ มะเร็งก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกันนะคะ แต่หากจะกล่าวอ้างว่าโปรตีนในนมวัวเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น อันนี้ไม่ได้มีข้อมูลงานวิจัยที่มากพอสรุปว่าจริงเช่นกันค่ะ

และเมื่อพิจารณางานวิจัยที่เป็นการสำรวจที่มักมีการนำมากล่าวอ้างในส่วนของมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม จะพบว่างานวิจัยนี้ไม่สามารถสรุปผลได้ว่านมวัวเร่งมะเร็ง เพราะงานวิจัยเชิงสำรวจระดับประเทศ เป็นงานวิจัยที่บ่งบอกว่าปัจจัย 2 ปัจจัย “อาจ” มีความสัมพันธ์กันในภาพใหญ่ (ระดับประเทศ) เท่านั้น ส่วนจะสัมพันธ์อย่างไร (อาจะสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม คือ คนเป็นมะเร็ง ต้องได้รับโปรตีนเพิ่ม เลยเริ่มดื่มนมก็ได้) หรือแม้แต่สัมพันธ์จริง ๆ ในระดับบุคคลหรือไม่ จำเป็นต้องมีงานวิจัยที่ละเอียดมากกว่านี้มาอธิบายเพิ่มเติมค่ะ

แล้วตกลงจะดื่มนมได้หรือไม่?

แน่นอนว่าในบริบทของบุคคลทั่วไป การมานั่งวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารและมะเร็งคงเป็นงานที่มีความท้าทายมาก ดังนั้นจึงมีหน่วยงานอิสระในระดับนานาชาติที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลงานวิจัยและนำมาสังเคราะห์เป็นคำแนะนำในระดับนานาชาติเกี่ยวกับอาหาร การใช้ชีวิต และการป้องกันมะเร็งค่ะ หน่วยงานนั้นคือกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund; WCRF) นั่นเอง ตารางด้านล่างเป็นตารางที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิต กับการเกิดมะเร็งเฉพาะส่วน จะสังเกตว่าในหัวข้อผลิตภัณฑ์จากนม ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งใด ๆ ที่เพิ่มขึ้น แล้วแถมยังพบว่า สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ลดลงด้วยค่ะ

เมื่อดูข้อมูลว่า ทำไม WCRF ถึงสรุปว่านมวัวไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ก็เพราะเมื่อนำงานวิจัยเชิงสำรวจในระดับบุคคล (ไม่ใช่สำรวจระดับประเทศแล้วนะคะ) จำนวนมาก (ของมะเร็งต่อมลูกหมาก 14 งานวิจัย ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 11,151 คน ของมะเร็งเต้านม 5 งานวิจัย ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3,293 คน) ไม่พบความสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างการดื่มนมกับการเกิดมะเร็งทั้งสองชนิดค่ะ

ดังนั้น จากข้อมูลทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า การดื่มนมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง หรือไปเร่งมะเร็งให้เจริญเติบโตไวขึ้นอย่างที่มีการกล่าวอ้างกันบนอินเทอร์เน็ตนะคะ ดังนั้นหวังว่าทุกท่านจะสามารถดื่มนมได้อย่างสบายใจแล้วนะคะ โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับอาหารอะไรอีก ติดตามอ่านได้เลยค่ะ 🙂

ป้า รักจักรวาล
บทความโดย เพจ ป้าเป็นนักกำหนดอาหาร Neo-mune.com
อ้างอิง
Ganmaa D, Li XM, Wang J, Qin LQ, Wang PY, Sato A. Incidence and mortality of testicular and prostatic cancers in relation to world dietary practices. Int J Cancer. 2002 Mar 10;98(2):262-7.
Ganmaa D, Sato A. The possible role of female sex hormones in milk from pregnant cows in the development of breast, ovarian and corpus uteri cancers. Med Hypotheses. 2005;65(6):1028-37.
Fenton TR, Lyon AW. Milk and acid-base balance: proposed hypothesis versus scientific evidence. J Am Coll Nutr. 2011 Oct;30(5 Suppl 1):471S-5S.
World Cancer Research Fund International/American Institute for Cancer Research. Continuous Update Project: Diet, Nutrition, Physical Activity and the Prevention of Cancer. Summary of Strong Evidence. Available at: wcrf.org/cupmatrix accessed on 28-05-2018.