November 2018

เมื่อพูดถึงปัญหาทางโภชนาการที่สำคัญในคนไข้มะเร็ง ปัญหาอันดับต้น ๆ ที่มักจะพบเจอได้ก็คือเรื่องของภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ค่ะ งานวิจัยระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นวินิจฉัย ตรวจพบมะเร็ง ประมาณ 50% ของคนไข้ก็เริ่มมีปัญหาทางโภชนาการแล้วค่ะ และในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน อุบัติการณ์ของภาวะทุพโภชนาการอาจจะมากถึง 85% เลยค่ะ (คนไข้สิบคน มีทุพโภชนาการเกือบเก้าคน) ทุพโภชนาการแล้วทำไม? ทำไมปัญหาทุพโภชนาการถึงเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ ก็เพราะเราพบว่าการเกิดภาวะทุพโภชนาการในคนไข้มะเร็ง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสในการติดเชื้อระหว่างการรักษาเพิ่มสูงขึ้น หากมีการผ่าตัดร่วมด้วย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และการฟื้นตัวก็จะช้าขึ้นค่ะ และที่สำคัญที่สุดคือจะลดประสิทธิผล รวมถึงเพิ่มผลข้างเคียงของการรักษา (เคมีบำบัด - รังสีรักษา) จนอาจจะต้องยืดระยะเวลาในการรักษาออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยค่ะ เพราะนอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทั้งคนไข้และผู้ดูแลอีกด้วยน้ำหนักตัวกับภาวะทุพโภชนาการ ตัวชี้วัดหนึ่งที่ค่อนข้างมีความสำคัญในการวินิจฉัยภาวะทุพโภชนาการ ก็คือน้ำหนักตัวที่ลดลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเองค่ะ ข้อมูลพบว่าน้ำหนักที่ลดลงโดยไม่ตั้งใจ แม้เพียง 5% ก็สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นค่ะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเลยที่เราจะต้องดูแลน้ำหนักตัวให้คงที่ เพื่อให้การรักษามะเร็งทำได้อย่างต่อเนื่องค่ะแต่จากการศึกษาลึกลงไปเกี่ยวกับน้ำหนักตัวในคนไข้มะเร็ง เราพบว่าส่วนที่สำคัญคือมวลกล้ามเนื้อค่ะ ต้องเล่าก่อนว่าน้ำหนักตัวของคนเราจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน...