ดูแลดี… ชีวิตดี

ดูแลดี… ชีวิตดี

ญาติและคนใกล้ชิดผู้ป่วย มีส่วนช่วยในการให้กำลังใจเป็นอย่างมากเพื่อให้มีความพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ โดยใช้ความตั้งใจในการรับฟังผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการพูดคุย การเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ การปฎิบัติตัวกับผู้ป่วยโดยเฉพาะการสัมผัส และการกอดด้วยความรักและห่วงใย ย่อมบ่งบอกได้ดีกว่าคำพูดเพียงอย่างเดียว หรือการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวและเพื่อนสนิท จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมีพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป

อาหารสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ (Neutropenic Diet)

ผู้ป่วยมะเร็งที่ทำการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือดที่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูก จะพบปัญหาภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ เมื่อระดับ Neutrophill ต่ำกว่า 500 cell/ mm3 ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น รับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ยังไม่ผ่านความร้อนดีพอ ก็เกิดการติดเชื้อทำให้ท้องเสีย ถ่ายท้อง ซึ่งในผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหารอยู่แล้ว หากยังมาท้องเสียร่วมด้วยทำให้เกิดอาการอ่อนแรง เพลีย เกิดภาวะทุพโภชนาการอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถรับเคมีบำบัด หรือทำการรักษาได้จนจบ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

หลักการจัดอาหารแบคทีเรียต่ำ

หลักการง่ายที่สุด คือ พยายามให้อาหารทุกชนิดผ่านความร้อนที่เพียงพอก่อนการรับประทาน และไม่เก็บอาหารที่อยู่ในช่วง Danger Zone Temperature คือ อุณหภูมิ 5-60 องศาเซลเซียส เวลาปรุงอาหารให้ใช้อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิที่กำหนดนี้ไม่แนะนำอาหารแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เพราะในช่วงอุณหภูมิดังกล่าวยังพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ดังนั้นการจัดอาหารกลุ่มนี้จึงให้ใช้อุณหภูมิสูงพอที่จะฆ่าเชื้อได้เป็นหลัก และไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วตั้งทิ้งไว้เกิน 2-4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้จุลินทรีย์กลับมาเจริญเติบโตได้ โดยมีหลักการจัดอาหารดังนี้

  • นมต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบพลาสเจอไรซ์ หรือสเตอร์ริไลซ์
  • ผัก ผลไม้ งดการบริโภคผักผลไม้สด สลัดผักสด ควรใช้ผักที่ผ่านความร้อนแล้ว
  • ขนมปังและเบเกอร์รี สามารถรับประทานได้ แต่งดรับประทานพวกที่มีการใช้ไส้คัสตาร์ด หรือมายองเนส
  • ธัญพืช ต้องผ่านการอบความร้อนก่อนรับประทาน
  • ผลไม้ที่มีการปอกเปลือกก่อนบริโภคต้องมั่นใจในภาชนะหรือกระบวนการปอกว่าไม่มีการปนเปื้อน
  • เนื้อสัตว์ต้องผ่านความร้อนจนสุกทั่วชิ้น อาหารจำพวกไส้กรอกรมควันหรือเบคอนควรหลีกเลี่ยง
  • ของหวานจำพวกเค้ก พุดดิ้ง ไอศกรีม ที่อยู่ในภาชนะที่ปิดสนิทดีและสามารถรับประทานได้ครั้งเดียวหมดสามารถรับประทานได้
  • ซุปที่ผ่านความร้อนส่วนใหญ่รับประทานได้ทั้งหมด ยกเว้นมิโสะซุป (ซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น) ควรงดเว้น
  • วัตถุปรุงแต่งรสอาหารสามารถใช้ได้ เช่นพวกซีอิ๊ว เป็นต้น แต่ต้องระวังกระบวนการปรุงอาหารที่ปรุงด้วยความร้อน เช่น ผัด ทอด นึ่ง เป็นต้น หลังจากใช้เสร็จควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท มิดชิด และเก็บในตู้เย็น ไม่แนะนำให้ใช้พริกไทย กระเทียม ที่ใช้โรยหน้าอาหารโดยไม่ได้ผ่านความร้อนก่อน
  • เครื่องดื่มและน้ำดื่มให้ใช้น้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบ Reverse Osmosis หรือกรรมวิธีที่แน่ใจว่าไม่มีสิ่งปนเปื้อน ส่วนพวกน้ำผลไม้กระป๋องที่ผ่านกระบวนการพลาสเจอไรซ์แล้วสามารถดื่มได้

ข้อควรระวังในการประกอบอาหาร

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการสัมผัสอาหาร
  • ล้างภาชนะและทำความสะอาดบริเวณที่ประกอบอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ ควรเลือกใช้สารทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในการทำความสะอาด
  • ในระหว่างการประกอบอาหาร ผู้ปรุงอาหารควรระวังการสัมผัสเส้นผม การขยี้จมูก หรือสัมผัสปาก และควรถอดแหวนและกำไรข้อมือออกก่อนการปรุงอาหาร เพราะอาจมีเชื้อโรคแอบแฝงอยู่
  • จานและภาชนะหลังล้างทำความสะอาด ควรลวกด้วยน้ำร้อนหรือเข้าเครื่องอบแห้ง
  • ล้างทำความสะอาดตู้เย็นด้วยสบู่และน้ำสะอาด เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากตู้เย็น อาหารที่เก็บไว้เกิน 3-4 วันควรนำออกจากตู้เย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อสัตว์
  • น้ำสลัด นม และไข่ ควรตรวจสอบอยู่เสมอหากเก็บไว้เกินกว่า 4 วัน ควรกำจัดออกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหารชนิดอื่น
  • หากพบว่าอาหารที่เตรียมพร้อมสำหรับการบริโภคสัมผัสกับวัตถุดิบอื่นที่ไม่ผ่านความร้อนให้ทิ้งอาหารเหล่านั้นเสีย
  • ในขณะเดินจับจ่ายอาหารที่ห้างสรรพสินค้า หรือตลาด ควรเลือกซื้ออาหารที่เน่าเสียง่ายเป็นอันดับสุดท้าย และรีบกลับบ้านมาประกอบอาหารหรือนำเข้าตู้เย็นทันที
    ไม่เลือกอาหารกระป๋องที่มีลักษณะของกระป๋องไม่สมบูรณ์ เช่น มีรอยบุบ หรือเบี้ยวเป็นต้น

อาหารสำหรับผู้มีปัญหาเม็ดเลือดแดงต่ำ

ผู้ป่วยมะเร็งมักมีการเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ โดยแพทย์จะประเมินอาการโดยอาศัยผลการตรวจความสมบูร์ของเม็ดเลือด (CBC) ซึ่งมีสาเหตุดังนี้

  • ยาเคมีบำบัดส่วนมากจะกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอ
  • มะเร็งบางชนิดส่งผลกระทบต่อระบบเลือดโดยตรง ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคเหล่านี้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอ
  • การฉายรังสีที่ปริมาณรังสีกระทบต่อไขกระดูก ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งที่ฉายรังสีอุ้งเชิงกราน ทรวงอก และช่องท้อง มักกระทบกระเทือนต่อไขกระดูกทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อย
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากรับประทานอาหาร และการรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้ขาดสารอาหาร และในกลุ่มของผู้ป่วยไม่อยากรับประทานเนื้อสัตว์ทำให้ให้ขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และโฟลิค
  • ภาวะเสียเลือดจากการผ่าตัด หรือก้อนเนื้อมะเร็งทำให้เกิดเลือดออกในร่างกายทำให้ระดับเม็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

อาหารของผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ

ธาตุเหล็กในอาหารเป็นตัวเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ธาตุเหล็กที่ได้จากอาหารจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. โปรตีนที่มีฮีม (Heme Protein) จะพบได้มากในเนื้อสัตว์
  2. เหล็กที่ไม่ใช้ฮีม (Nonheme Protein) จะพบได้มากในผักใบเขียว

โปรตีนที่มีฮีม (Heme Protein) จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุด เนื่องจากการดูดซึมเหล็กในรูปที่ไม่ใช้ฮีม จะต้องอาศัยตัวพาเข้าสู่ร่างกายหลายตัว ทำให้ยากต่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ สภาวะความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะอาหาร และความยาวของลำไส้เล็ก ก็มีผลต่อการดูซึมธาตุเหล็กด้วย ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีการตัดลำไส้โดยเฉพาะลำไส้เล็ก จะทำให้เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น และในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารต้องได้รับยาลดกรดในกระเพาะอาหารยิ่งเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้สูง

สารยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก

  • สารไฟเตท (phytate) เป็นสารที่พบมากในอาหารกลุ่มธัญพืช ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียม เป็นต้น โดยสารไฟเตทจะลดลงเมื่อเมล็ดพืชมีการงอกใหม่ขึ้นมา ผู้มีภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำควรหลีกเลี่ยง
  • เส้นใยอาหาร(Dietary fiber) ในกรณีที่ร่างกายอยู่ในภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ ใยอาหารสูงอาจเป็นผลเสียกับร่างกาย โดยเหล้กจะเข้าไปจับกับใยอาหารประเภทที่ละลายน้ำได้ และถูกขับออกไปกับอุจจาระ แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานใยอาหารในปริมาณ 25-30 กรัมตามคำแนะนำของ Thai RDI ก็ยังไม่ส่งผลต่อการกำจัดธาตุเหล็กออกจากร่างกายมากนัก
  • แทนนิน (Tannins) เป็นสารที่มีรสฝาดพบได้เฉพาะในพืชเท่านั้น โดยเฉพาะในน้ำชา ผักกระเฉด ผักกระถิน ทำหน้าที่จับกับเหล็กในสภาวะลำไส้เป็นด่างอ่อนๆ และทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเหล็กเข้าสู่ร่างกายได้

ในทางตรงกันข้าม การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจากกรดอินทรีย์ธรรมชาติ ได้แก่ กรดแลกติก ซิตริก สามารถเข้าแย่งจับระหว่างเส้นใยอาหารกับธาตุเหล็ก และไฟเตทได้ ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งแต่ละชนิด

มะเร็งลำไส้ใหญ่

  • คาร์โบไฮเดรต เป็นอาหารหลักที่ร่างกายต้องการใช้เป็นพลังงานพื้นฐาน ควรเลือกคารืโบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก เช่น ข้าวกล้อง เนื่องจากมีใยอาหารสูง ช่วยทำหน้าที่ในการดูดขับสารก่อมะเร็งและน้ำดี แล้วขับออกจากร่างกาย ควรได้รับใยอาหารไม่ต่ำกว่า 25 กรัมต่อวัน
  • โปรตีน ใน 1 วัน ควรได้รับโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาหารกลุ่มที่ให้โปรตีนได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ โดยเฉพาะ ไข่และเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนครบถ้วนที่สุด แนะนำเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันเป็นหลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตวร์แปรรูป เช่นไส้กรอก กุนเชียง เพราะอาหารแปรรูปเหล่าสี้มักใส่สารไนไตรท์ ไนเตรต รวมไปถึงไขมันจำนวนมาก ทำให้กระตุ้นการเกิดมะเร็งมากขึ้น
  • ไขมัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจำกัดปริมาณไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น กะทิ หากจำเป็นต้องการประกอบอาหารด้วยกะทิควรใช้นมถั่วเหลืองแทน น้ำมันไม่ควรได้รับเกิน 20% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ไม่ควรเลือกใช้ไขมันที่เกิดกลิ่นเหม็นหืน ควรเลือกใช้กรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นหลัก เช่น พวกโอเมก้า 3
  • ผัก ผลไม้ ควรรับประทานผัก ผลไม้ที่มีเส้นใยสูง ยกเว้นในกรณีที่รับการผ่าตัดแล้วมีอาการ Dumping ‘s Syndrome ซึ่งจะเกิดอาการไม่สบายท้อง อาจจะต้องจำกัดอาหารบางชนิดเพิ่มมากขึ้น ควรเลือกชนิดที่ย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก ส้ม แก้วมังกร เป็นต้น และหลังจากการรับประทานผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูงแล้ว ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้

นอกจากนี้หากเกิดภาวะท้องอืดควรจำกัดปริมาณผักที่มีกลิ่นฉุน และลดปริมาณใยอาหารลง จนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ จึงกลับมารับประทานได้ตามเดิม

*** มีรายงานการวิจัย พบอาหารมีผลดีต่อการป้องกันและต่อต้านมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำเพราะมีสาร Isithiocyanate ซึ่งให้ผลดีต่อการควบคุมมะเร็ง***
*** การได้รับแคลเซียมเสริมสามารถป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับการเสริมโฟเลท สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ สารอาหารทั้ง 2 ชนิดพบมากในนม แต่การดื่มนมควรเลือกชนิดพร่องหรือขาดมันเนยเพื่อเสริมสร้างสารดังกล่าว***

มะเร็งปากมดลูก

  • คาร์โบไฮเดรต ผู้ป่วยสามารถรับประทานข้าวแป้งได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55 % ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน อาจเน้นไปที่ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ขนมปัง อาหารประเภทเส้น
  • โปรตีน ใน 1 วัน ควรได้รับโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โปรตีนจากเนื้อสัตว์ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะมักมีไขมันมากเกินไป ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ อาทิ เนื้อปลา สันในไก่ อกไก่ เป็นต้น ส่วนกลุ่มเนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยงคือ เนื้อสัตว์ไขมันสูง อาทิ หมูบด เนื้อสะโพก ไส้กรอก
  • ไขมัน ควรลดไขมันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ยังคงต้องได้รับไขมัน 15-20% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน งดเว้นน้ำมันทอดซ้ำเนื่องจากจะมี PHA ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอนุมูลอินสระมากมากที่เกิดขึ้นในกระบวนการทอด
  • ผัก ผลไม้ สามารถรับประทานผักและผลไม้เส้นใยสูงได้เกือบทุกชนิด เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น ยกเว้นถ้ามีอาการท้องอืดอาจต้องลดลง เน้นผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาทิ ผลไม้ที่มีสีสด และควรดื่มน้ำให้มากขึ้นเมื่อรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง

มะเร็งปอด

ผู้ป่วยมักมีภาวะการหายใจลำบาก การรับประทานควรอยู่ในท่านั่งห้อยขา หลังตรงสบายๆ เพื่อให้อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารได้ง่าย มีงานวิจัยพบว่าผักในตระกูล คะน้า กะหล่ำปลี และบร็อคโคลี เป็นผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งปอด และการได้รับสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งปอดได้ แต่ควรได้รับจากอาหารจะดีที่สุด

  • คาร์โบไฮเดรต ควรได้รับพลังงานจากข้าวแป้งเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 60% ของพลังานที่ต้องการในแต่ละวัน ข้าวไม่ขัดสีจะป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า หากผู้ป่วยมีภาวะการหายใจลำบากควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเนื้อสัมผัสหยาบเกินไป อาทิ ข้าวต้ม หรือน้ำหวานผสมให้ดื่ม หากปกติแล้ว รับประทานอาหารหมู่ข้าว แป้งได้เกือบทุกประเภท
  • โปรตีน สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่นสะโพกไก่ หมู หรือปลาที่ไม่มีเกล็ดบางชนิดเช่น ปลาสวาย วิตามินดีที่มีในเนื้อสัตว์พวกปลาเล็กปลาน้อย รวมไปถึงในน้ำนม สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดหลังการผ่าตัดฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ควรเลือกนมชนิดพร่อง หรือขาดมันเนยเป็นหลัก
  • ไขมัน ไม่ควรใช้น้ำมันในการประกอบอาหารมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากน้ำมันทอดซ้ำ ควรรับประทานไขมันแต่พอดี ประมาณ 5 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารควรจะเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันมะกอก และน้ำมันรำข้าว
  • ผักและผลไม้ รับประทานผักได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผักในตระกูล คะน้า กะหล่ำปลี และบร็อคโคลี ซึ่งมีงานวิจัยว่าเป็นผลดีต่อมะเร็งปอด และหากได้รับสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งปอดได้ แนะนำให้รับประทานแครอทวันละ 2-3 หัวขนาดกลาง ไม่แนะนำการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปแบบสังเคราะห์ทางเคมีเป็นเม็ดหรือแคปซูล
    **สำหรับผลไม้เลือกที่สีส้ม แดง จะให้สารฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีผลต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งผลไม้ยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นสารอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดต้องการอีกด้วย**

มะเร็งตับ

  • คาร์โบไฮเดรต สามารถรับประทานข้าว แป้ง ได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55-60% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรืออาจเพิ่มได้บ้างในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลินแทรกซ้อน ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย ไม่ควรบริโภคธัญพืชมากเกินไป เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักมากขี้น และเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้นได้
**หากผู้ป่วยรับคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าวได้น้อยมาก อาจเพิ่มให้ผู้ป่วยในรูปแบบของน้ำหวาน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วร่างกายดึงโปรตีนมาใช้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน
โปรตีน ในช่วงแรกของการเกิดโรคผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อให้ร่างกายมีโปรตีนเพียงพอที่จะไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โปรตีนที่แนะนำได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ไก่ เป็นต้น**
**หากผู้ป่วยมีอาการบวมน้ำที่มีสาเหตุมาจากโปรตีนอัลบูมิน ต่ำ ควรเสริมอาหารประเภทโปรตีนโดยเฉพาะไข่ลวกเอาเฉพาะส่วนไข่ขาว เพราะในไข่ขาวมีโปรตีนอัลบูมินสูง คุณสมบัติของโปรตีนจะช่วยอุ้มน้ำ จึงช่วยบรรเทาอาการบวมน้ำให้ดีขึ้น อาจรับประทานไข่ขาวลวกวันละ 2 ฟองเพื่อเพิ่มอัลบูมินแก่ร่างกาย**

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ Hepatic Encephalopathy ร่วมด้วย คือมีอาการทางระบบประสาทที่เป็นสาเหตุมาจากโรคตับ ได้แก่ มึนงง สับสน เบลอ การควบคุมตนเองผิดปกติ อาจถึงขั้นชักได้ ภาวะนี้อาจรับโปรตีนในปริมาณมากไม่ได้ โดยเฉพาะโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนชนิดวงแหวน ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่ภายใต้การควบคุมของนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด

  • ไขมัน เนื่องจากตับผลิตน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน เมื่อเกิดมะเร็งการสร้างน้ำดี อาจน้อยลง หากรับประทานอหารที่มีไขมันสูง จะย่อยยากหรือไม่สามารถย่อยได้ เกิดภาวะถ่ายเป็นหยดไขมัน (Steatorrhea)แน่นท้อง ท้องอืดจากการมีไขมันคั่งค้าง จุลินทรีย์ในลำไส้จะเปลี่ยนไขมันเป็นแก๊ส เป็นเหตุให้ท้องอืด แน่นท้อง บางกรณีแพทย์และนักกำหนดอาหารจะกำหนดไขมันสายปานกลางหรือ MCT ให้ผู้ป่วยทดแทนไขมันปกติ เพราะไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับก่อน
  • ผักและผลไม้ ผักใบเขียวทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หากมีอาการท้องอืดมาก ควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก และหลีกเลี่ยงผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม คะน้า คึ่นไช่ เป็นต้น เพราะอาหารประเภทดังกล่างประกอบด้วยสารกำมะถัน ก่อนให้เกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาหารท้องอืดมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับผลไม้ ควรเลือกที่ไม่มีเนื้อแข็งหรือมีเส้นใยมากเกินไป เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล หากรับประทานสดลำบากอาจจะรับในรูปแบบน้ำผลไม้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ก่อนรับประทานอาหารในมื้อปกติ เพราะจะทำให้ท้องอืดเสียก่อน และทำให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

ผู้ป่วยมะเร็งตับมักมีอาการอาหารไม่ย่อย แน่นท้อง ท้องอืดได้ง่าย ทำให้รับประทานได้น้อย ควรกระจายมื้ออาหารจากปกติ 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อ โดยเพิ่มมื้อว่าง นอกจากนั้น อาหารที่ได้รับควรปราศจากสิ่งปนเปื้อน เพราะอาจทำให้ตับต้องทำงานหนักในการกำจัดสารพิษมากขึ้น

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • คาร์โบไฮเดรต ไม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากนัก เพราะพบความสัมพันธ์ของอาหารในกลุ่มที่มีดัชนีน้ำตาลสูงกับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น ตัวอย่างอาหารในกลุ่มได้แก่ ข้าวขัดสี ขนมปัง เป็นต้น จึงควรเลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงพวกพาสต้า มักกะโรนี และการได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเกินไป ควรเลือกน้ำตาลไม่ขัดขาว
  • โปรตีน เนื้อสัตว์พวกเนื้อวัว เนื้อสะโพกหมู ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะพบความสัมพันธ์ชองการได้รับเนื้อสัตว์ดังกล่าวกับการมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้ง 2 ชนิด แนะนำรับประทานเนื้อปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล ควรงดการรับประทานพวกชีส รวมไปถึงลดปริมาณการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมด้วย เนื่องจากมีรายงานถึงความสัมพันธ์ของการได้รับพวกผลิตภัณฑ์นมเนยสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ไขมัน ไม่พบข้อบ่งชี้ถึงการรับประทานไขมันกับการเกิดโรคดังกล่าวแน่ชัด อย่างไรก็ตามการได้รับอาหารที่มีแคลอรีสูงเกินไปสามารถส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น ดังนั้นแม้ว่าแหล่งอาหารที่มีพลังงานมากที่สุดคือ ไขมัน แต่ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
  • ผักและผลไม้ ผักในตระกูลของกะหล่ำ บร็อคโคลี มีฤทธิ์ช่วยในการควบคุมเซลล์มะเร็ง และมีการแนะนำว่าการรับประทานผักให้มากกว่าวันละ 5 ทัพพี สามารถช่วยเรื่องมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ไม่มีรายงานถุงการได้รับอาหารเสริมแบบเป็นเม็ด เช่น วิตามน เบต้าแคโรทีน ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่มีรายงานถึงสารอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้

ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด แต่ให้งดเว้นผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เพราะจะเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้ ควรจะรับประทานแต่เพียงพอ เพื่อป้องกันการได้รับพลังงานมากเกินไป ซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงกับเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • คาร์โบไฮเดรต รับประทานได้ตามปกติอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี แต่ถ้าไม่อยากอาหารสามารถให้ขนมปังหรือแครกเกอร์ แทนข้าวได้ หรืออาจจะลดส่วนข้าวลงแล้วเพิ่มน้ำผลไม้ให้ผู้ป่วยแทน แต่น้ำผลไม้ควรเลือกที่ผ่านการพลาสเจอรไรซ์เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • โปรตีน ควรได้รับโปรตีน 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์คุณภาพดี ไม่ติดมันมากเกินไป สามารถรับประทานได้ทุกชนิด หากรับประทานไก่ก็ควรเลือกเฉพาะเนื้ออกไม่เอาหนัง และควรรับประทานไข่ไก่สัปดาห์ละ 2-3 ฟองหรือดื่มนมพร่องมันเนย
  • ไขมัน สามารถรับประทานได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานมาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ๆ
  • ผักและผลไม้ ผักใบเขียวต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และควรปรุงให้สุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่จำกัดปริมาณ สามารถรับประทานได้ตามความต้องการ ผักที่มีสี เช่น มะเขือเทศ แครอท สามารถลดการก่อตัวของเซลล์มะเร็งได้

ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิดโดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ฝรั่งส้ม เป็นต้น และยังสามารถรับประทานในรูปแบบของน้ำผลไม้ได้อีกด้วย แต่ควรระวังเรื่องความสะอาด เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ แอปเปิ้ลควรรับประทานเป็นประจำ เพราะมีสาน Flavonoid ลดการเกิดมะเร็ง และยังมีงานวิจัยถึงการได้รับผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ร่วมกบผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

มะเร็งเต้านม

  • คาร์โบไฮเดรต รับประทานข้าวแป้งโดยได้รับคาร์โบไฮเดรต 50-55 % ของพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน ควรรับประทานข้าวแป้งเป็นอาหารหลักทั้ง 3 มื้อในผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยควรได้รับข้าวอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี พบว่าการได้รับธัญพืชโดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยเสริมโฟเลทซึ่งให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็ง
  • โปรตีน ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ไขมันสูง เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปิ้งย่างจนเกิดเขม่าควัน รวมไปถึงเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง การรับประทานน้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วให้ผลดีต่อการป้องกันมะเร็ง และลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วเหลืองในความเข้มข้นสูงไว้ก่อน เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน ซึ่งมีฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิงอาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้
  • ไขมัน ควรได้รับไขมันวันละ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และไม่รับประทานไขมันอิ่มตัว รวมไปถึงอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น เบเกอร์รี่ ไอศกรีม เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานมากเกินไป ทำให้เกิดโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งได้ สำหรับไขมันชนิดไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 มีผลในการลดการเสี่ยงการเกิดมะเร็ง แต่บางงานวิจัยก็ไม่มีผล ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดี
  • ผักและผลไม้ ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมรับประทานผักปริมาณมาก ดีกว่ารับประทานผลไม้ในปริมาณมากเพราะผลไม้จะมีน้ำตาลสูงทำให้เกิดไขมันสะสม สามารถรับประทานพวกผักใบเขียวได้ไม่จำกัด แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนกลุ่ม Tamoxifen ควรรับประทานแครอท และดอกกะหล่ำเพิ่มเพื่อลดอาการร้อนๆ หนาวๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างได้รับยา

ผลไม้ให้เลือกที่ไม่หวานจัด เลือกผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ผลไม้ที่มีสีแดงสดและมีสีออกแดงหรือสีส้ม ที่สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือกเพราะให้สารฟลาโวนอยด์ลดการเกิดมะเร็งได้

โภชนบำบัดสำหรับป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

แนวทางป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยมะเร็งของสหรัฐอเมริกา และสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา แนะแนวทางในการดูแลตนเองให้แข็งแรงและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง หรือแนวทางการป้องกันมะเร็ง ดังนี้

1. ควรเลือกอาหารที่มาจากพืชเป็นส่วนใหญ่

  • ให้มีอาหารพืชผัก ผลไม้ไว้ในตู้เย็นเสมอ
  • ให้ใช้ถั่วเมล็ดแห้งในการปรุงอาหารให้มากขึ้น เช่น ใส่ถั่วในส้มตำ ยำ หรือในแกง อาจจะใช้ถั่วได้หลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เป็นต้น (พวกธัญพืชที่นำมาใช้ปรุงอาหารต้องแน่ใจว่าสด ใหม่ ปราศจากเชื้อรา)
  • ให้รับประทานอาหารพวกผักชนิดใหม่ๆ ซึ่งจะเพิ่มความอยากรับประทานอาหารพวกผัก
  • หัดปรุงอาหารที่ทำจากพืช
  • รับประทานอาหารโปรตีนที่ทำจากพืช เช่น เนื้อเจ ที่ทำจากถั่วเหลือง หรือจากเห็ด
  • ใช้เนื้อสัตว์เพียงแค่ปรุงรสเท่านั้นไม่ใช่อาหารหลัก

2. รับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้น

  • เลือกอาหารว่างที่ทำจากพืช เช่นผลไม้ต่างๆ น้ำผลไม้ และควรเป็นน้ำผลไม้สดจะดีกว่าโดยเฉพาะการคั้นเองจะทำให้ไม่สูญเสียวิตามินซีไปมาก และไม่ควรเติมน้ำตาล
    รับประทานผักใบเขียวให้มาก
  • ควรรับประทานผลไม้หลังจากรับประทานอาหาร
  • รับประทานผักผลไม้มากเท่าใด ย่อมได้รับสารอาหาร วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็ง

3. รักษาน้ำหนักที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำ โดยน้ำหนักที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่างดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 สำหรับคนที่น้ำหนักน้อยต้องรับประทานอาหารเพิ่ม โดยเพิ่ม ข้าว แป้ง ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารที่ให้โปรตีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลา ถั่วเหลือง หรือเต้าหู้ โรคอ้วนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับคนทึ่มีน้ำหนักเกิน ต้องรับประทานอาหารให้น้อยลง

วิธีการรับประทานอาหารอย่างฉลาดเพื่อรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม มีดังนี้

  • อ่านฉลากอาหารทุกครั้ง หากปริมาณสารอาหารมากเกินไป ต้องแบ่งอาหารออกมา เพื่อไม่ให้ได้รับพลังงานที่มากเกินไป
  • อย่าอดอาหาร เพราะจะรับประทานมากขึ้นในมื้อต่อไป
  • เลือกอาหารว่างเป็น ผัก ผลไม้
  • ให้รับประทานเมื่อหิวเท่านั้น อย่ารับประทานเพราะอร่อย หรือความอยาก ควรหางานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้รับประทานมากเกินไป
  • อาหารพวกผักผลไม้จะมีไขมันต่ำ หากรับประทานเป็นหลักโอกาสอ้วนจะน้อย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเครียดได้ ทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น วิธีการออกกำลังกายง่ายๆ ทำได้ดังนี้

  • เริ่มทีละน้อยๆ ค่อยๆ เพิ่ม อย่าหักโหม เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ
  • การเดินเป็นวิธีที่ดี ง่าย สะดวกและประหยัด
  • ทำกิจวัตรประจำวันอย่างกระฉับกระเฉง เช่น การถูบ้าน การล้างรถ
  • ผู้สูงอายุ หรือมีโรคข้อเข่าเสื่อม อาจออกกำลังในน้ำ เพราะน้ำจะช่วยพยุงตัว ลดการกระแทก ไม่เป็นอันตรายต่อข้อ

4. ลดการดื่มสุรา การดื่มสุราก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งตับควรงดดื่มสุรา

5. เลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีไขมันสูงจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็ง ไขมันอิ่มตัวพบมากในน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู หนังสัตว์ และกะทิ ส่วนไขมันทรานส์ พบมากใน เนยขาว และมาการีน แต่มิได้ห้ามรับประทานไขมันทั้งหมด เพราะไขมันยังมีความจำเป็นต่อร่างกายในด้านการให้พลังงาน และยังไปสร้างฮอร์โมนต่างๆ และ หากไม่รับประทานไขมันเลย วิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งได้แก่ เอ ดี อี เค จะไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้

6. ปรุงอาหารอย่างถูกวิธี การปรุงอาหารพวกเนื้อสัตว์โดยการปิ้ง ย่าง หรือเผาด้วยความร้อนสูง จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เนื่องจากน้ำมันที่ถูกไฟไหม้จะก่อให้เกิดสาร Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ควรจะเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น เช่น การอบ นึ่ง ต้า ทอดในน้ำ

วิธีการที่จะลดการเกิดสารก่อมะเร็งมีดังนี้

  • อย่าย่างเนื้อสัตว์หลายชนิดในไม้เดียวกัน เพราะเนื้อทุกชนิดสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ ให้เลี่ยงไปย่างผักหรือผลไม้แทนเนื้อสัตว์
  • เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน หรือให้ตัดไขมันออกให้หมด
  • ให้หมักเนื้อก่อนปรุงอาหารโดยเฉพาะการหมักด้วยมะนาวช่วยลดสารก่อนมะเร็ง ให้หมักก่อนปรุง 15-20 นาทีไม่ควรหมักด้วยน้ำมัน
  • ไม่ควรเผาเนื้อสัตว์ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้หุ้มเนื้อสัตว์ด้วยฟอยด์ก่อน หรืออาจทำให้เนื้อสัตว์สุกด้วยการต้ม อบ หรือเข้าไมโครเวฟก่อน แล้วจึงนำมาปิ้งภายหลัง
  • อย่ารับประทานเนื้อสัตว์ที่ไหม้ ให้ตัดส่วนที่ไหม้ออก
  • การย่างหรือเผาอาหารประเภทผักไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง

7. การเตรียมและการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยที่ฟื้นจากโรคมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอมีโอกาสเกิดโรคจากอาหารเป็นพิษสูง ดังนั้นควรปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยในอาหาร จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • ล้างมือ ถ้วยชาม เช็ดโต๊ะอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ให้ล้างผักและผลไม้โดยการให้น้ำไหลผ่านเป็นเวลานานพอสมควร
  • ระวังการปนเปื้อนอาหารจากการใช้มีด เขียง จาน ชสใ
  • ปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบๆ
  • อ่านฉลากอาหารให้ทราบวันหมดอายุ

8. งดการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายระบบ โดยเฉพาะมะเร็งปอด การเลิกสูบบุหรี่ทำให้ลดการเกิดมะเร็งได้ถึง 30%

การดูแลทางด้านจิตใจในผู้ป่วยมะเร็ง

โรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยก็ยังคงต้องการ ความรัก ความเอาใจใส่ และความสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการดูแลในส่วนนี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้การดูแลทางกาย ซึ่งจะแบ่งการดูแลตามสภาพการเกิดผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยดังนี้

1. ระยะก่อน และขณะที่ได้รับทราบการวินิจฉัย ผู้ป่วยมะเร็งมักจะอยู่ในวัยที่ ต้องรับผิดชอบ ต่อครอบครัว ดังนั้นความตึงเครียด และกังวลต่อโรคที่ได้รับวินิจฉัย ความรู้สึกในวันก่อนทราบการวินิจฉัยจึงมีลักษณะขัดแย้งกันในตัวเอง มีความสับสนทั้งต้องการทราบ ผลการวินิฉัย แต่ก็กลัวที่จะเป็นมะเร็ง เป็นลักษณะความขัดแย้งในอารมณ์ เมื่อแพทย์บอกการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ด้วยความรู้สึกและมีเจตคติต่อ โรคมะเร็ง ว่าเป็นโรคที่ผู้ใดเป็นแล้วต้องตายไม่มีทางรักษาพฤติกรรมก็อาจจะแสดงออกมา ในรูปแบบต่างๆกันดังนี้ ระยะที่ 1 การปฏิเสธและการแยกตัว (The stage of denial isolation) ผู้ป่วยจะไม่ยอมพูดหรือรับฟังเรื่องโรคที่เขาเป็นอยู่ มีปฏิกิริยา 2 แบบ คือ

  • เศร้าโศก ร้องไห้อาลัยชีวิตที่ก าลังจะสิ้นสุดลง เมื่อมีผู้พูดถึงโรคของเขา
  • ซึมเศร้า เฉยเมยไม่พูดจากับใคร แยกตัวเองจากสิ่งแวดล้อม จะพูดด้วย เฉพาะผู้ที่เข้าใจเขาเท่านั้น

2. ระยะที่ 2 โกรธ (The Stage Of Anger) ผู้ป่วยมีอาการขุ่นมัว ใครทำอะไรไม่ ค่อยถูกใจ โกรธง่าย โกรธที่ตนเองกำลังจะสูญเสียทุกอย่างในชีวิต คิดว่าตนนั้นโชคร้าย กว่าใครๆทั้งหมด ไม่เหมือนผู้อื่นเขา ครอบครัวและญาติต้องเข้าใจไม่แสดงอาการโกรธตอบ พยายามหาทางให้ระบาย การให้อภัยเห็นอกเห็นใจการพยาบาลที่สุภาพ ละมุนละไม และการแสดงความรัก ความห่วงใยของญาติ ครอบครัว ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยคลายความขุ่นมัว หงุดหงิดได้

3. ระยะที่ 3 การต่อรอง (The Stage Of Bargaining) เมื่อไม่สามารถปฏิเสธ ความจริงได้ก็มักจะต่อรอง ขอให้ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก แม้จะไม่นานก็ตามส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับ ศาสนา และความเชื่อ เช่น การบน ญาติควรให้โอกาสได้พบพระ ทำบุญ และสิ่งที่ ผู้ป่วยประสงค์ในทางที่ควร

4. ระยะที่ 4 ซึมเศร้า (The Stage Of Depress) ผู้ป่วยมักเงียบขรึม ซึมเศร้าไม่ ต้องการให้ใครเยี่ยม การชวนคุยหรือเบนความสนใจมักไม่ได้ผล การนั่งเป็นเพื่อนเงียบๆ สัมผัสมือ เบาๆ ทำการพยาบาลอย่างสุภาพอ่อนโยน ก็เป็นการเพียงพอ

5. ระยะที่ 5 การยอมรับ (The Stage Of Acceptance) ถ้าผู้ป่วยผ่านมาสู่ระยะนี้ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด การโกรธเคือง เศร้าโศกจะหายไปหมด เป็นระยะที่ผู้ป่วยต้องการพักผ่อน เงียบๆ เป็นครั้งสุดท้ายกับผู้ที่เขารักตามลำพัง ควรให้การดูแลสัมผัสอย่างแผ่วเบา และอ่อนโยนมากกว่าการใช้คำพูด

ระยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเรียงหรือไม่เรียงตามลำดับก็ได้ เช่น ผู้ป่วยอาจจะ ซึมเศร้า ก่อนหรือหลังการยอมรับ การวินิจฉัยก็ได้ ภาวะต่างๆเหล่านี้ ตั้งแต่การปฏิเสธ ความจริง การต่อรอง หรือการหลบหนีความจริง ล้วนแล้วแต่สร้างความกังวลใจให้ ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็ได้ ระยะที่ให้การรักษา เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาโรคมะเร็งมีวิธีการได้ ต่างๆกัน ตั้งแต่การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยไม่ ค่อยเข้าใจและกลัวต่อภาวะแทรกซ้อนมาก

จากการศึกษาวิธีการต่างๆในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง รังสีรักษา เป็นวิธีที่ผู้ป่วย สับสนและค่อนข้างกังวล มากที่สุด กลัวตาย กลัวเครื่องฉายรังสี กลัวผิวหนังไหม้เกรียม กลัวผลต่างๆที่จะ เกิดขึ้นจากรังสี ระยะติดตามการรักษา ระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความสบายใจ และมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากผลการรักษา มักจะขจัดอาการต่างให้ดีขึ้นอย่าง ชัดเจน เช่น อาการปวด หอบเหนื่อย หรืออาการทางระบบประสาท เช่น ตาเหล่ ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมี ความสบายใจมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับการกลับเป็นใหม่หรือการกระจายของโรค ดังนั้นจึงมักจะแสวงหาสิ่งอื่นๆ มาเสริมสร้างกำลังใจ เช่น ใช้ยาสมุนไพร ตลอดจนยาพระ ยาหม้อ ซึ่งหากแพทย์ผู้ให้การรักษาไม่อนุญาต จะสร้างความ ขัดแย้งต่อจิตใจผู้ป่วยมาก

ระยะสุดท้าย ระยะนี้ผู้ป่วยจะท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกอยากตาย บางครั้งรู้สึก ไม่อยากตาย รู้สึกยังมีสิ่งที่ยังไม่ได้รับการจัดการอีกมาก ในระยะนี้ ผู้ให้การรักษา ควรอธิบายให้ญาติเข้าใจ และจัดสิ่งแวดล้อมตามความพอใจของผู้ป่วย

การที่บุคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้ป่วยในแต่ละช่วงจะช่วยลดปัญหาด้านจิตใจและความขัดแย้งในครอบครัว เช่น ความท้อแท้ของผู้ป่วย, ความเครียดของผู้ดูแล เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน การดูแลและการรักษาจึงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงจาก: หนังสือโภชนบำบัดมะเร็ง