รู้จักมะเร็ง

รู้จักมะเร็ง

มะเร็ง ในภาษาอังกฤษ คือ Cancer
มีรากศัพท์มาจาก ภาษากรีก ว่า Onkos หรือ Onco

มะเร็ง เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่จากเนื้อเยื่อปกติของร่างกายอยู่เหนือการควบคุมของร่างกายและไม่มีประโยชน์ เซลล์มะเร็งมีการแบ่งเซลล์และเติบโตแบ่งตัวได้ต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างให้เหมาะสมกับหน้าที่เฉพาะเจาะจง ผลลัพธ์คือ การเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งที่เติบโตรบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในอวัยวะ นอกจากนี้ยังสามารถลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย มะเร็งอาจมีความแตกต่างได้มากมาย ตามตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของมะเร็ง

มะเร็ง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ อาชีพ ที่พักอาศัย และพันธุกรรม โดยมีปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งดังนี้

  1. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เป็นต้น รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิบางชนิด
  2. ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน และภาวะทุพโภชนา เป็นต้น แหล่งที่มาข้อมูล

ระยะของมะเร็ง

แบ่งความรุนแรงของมะเร็งโดยอาศัยการลุกลามของโรคออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในที่เริ่มเป็น หรือยังอยู่เฉพาะบริเวณที่กำเนิด
  • ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามทะลึผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังบริเวณที่ไกลออกไป หรือไปยังอวัยวะอื่นๆ

ชนิดของมะเร็ง 

มะเร็งมีหลายชนิด ดังนี้

    1. มะเร็งปากมดลูก

      ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก (หรือประมาณ 70% ของผู้ป่วยโรคนี้) มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus – HPV) ชนิด 16 และ 18 ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีปัจจัยเสริมคือ การเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีลูกมาก การสูบบุหรี่ และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    2. มะเร็งเต้านม

      พบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี สาเหตุยังไม่แน่ชัด โดยมีปีจจัยเสี่ยงเพิ่มจากการที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หญิงที่ไม่เคยมีบุตร หรือผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี ผู้หญิงที่มีประจำเดือนนาน อ้วน ดื่มแอลกอฮอล์มาก โดยจะตรวจพบก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในเต้านม

    3. มะเร็งตับ

      ในคนไทยส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี แอลกอฮอล์ สารอัลฟาทอกซิน และตับแข็ง โดยผู้ป่วยมีอาการเบื่ออหาร แน่นท้อง น้ำหนักลด ไข้ต่ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมที่ขาทั้ง 2 ข้าง

    4. มะเร็งปอด

      ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากสูบบุหรี่ พันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการทำงาน เช่น แอสเบสตอสเรดอน ในระยะแรกไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่เมื่อมะเร็งโตขึ้น จนกดหลอดลมหรือลุกลามอวัยวะอื่น ๆ จะมีอาการไอ มีเลือดออก หอบเหนื่อย หน้าบวม แขนบวม เจ็บหน้าอกและหัวใหล่ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร

    5. มะเร็งช่องปาก

      ปัจจัยเสี่ยงอยู่ในผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และแสงแดด ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปาก โดยมีอาการมีฝ้าขาว ฝ้าแดง มีตุ่มก้อนในปากโตขึ้นเรื่อย ๆ มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ใน 3 สัปดาห์ และมีก้อนที่คอ

    6. มะเร็งโพรงหลังจมูก

      พบมากในเชื้อชาติจีน พบในเพศชายมากกว่าหญิง โดยมีเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสเอบสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus) อาการคือ หูอื้อ มีก้อนที่คอ คัดจมูก มีเลือดกำเดา ปวดศีรษะ หน้าชา มองเห็นภาพซ้อน โดยวินิฉัยโดยตรวจพบเนื้องอกในโพรงหลังจมูกและได้ชิ้น เนื้อเพื่อพิสูจน์

    7. มะเร็งกล่องเสียง

      พบบ่อยในผู้สูงอายุ 60-70 ปี เกิดจากปัจจัยเสี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ โดยมีอาการเสียงแหบ เสียงเปลี่ยน กลืนอาหารลำบาก สำลัก เสมหะปนเลือด หายใจลำบาก มีก้อนที่คอ การวินิจฉัยใช้กระจกส่องตรวจพบ เนื้องอกบริเวณกล่องเสียง และการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์

    8. มะเร็งต่อมไทรอยด์

      พบบ่อยในเด็กและในผู้หญิงอายุ 30-40 ปี โดยมีปัจจัย เสี่ยงจากการฉายรังสีในบริเวณคอ และมีประวัติคนเป็นมะเร็งในครอบครัว มีอาการคือมีเนื้องอกต่อมไทรอยด์หรือคอพอกโตเร็ว ผู้ป่วยมีเนื้องอกต่อมไทรอยด์ร่วมกับมีเสียงแหบและกลืนสำลัก และมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต

    9. มะเร็งถุงน้ำดี

      และท่อน้ำดี มะเร็ง ถุงน้ำดีพบได้น้อยกว่ามะเร็งท่อน้ำดี และพบ ในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักเกิดจาก พยาธิใบไม้ในตับ และสารก่อมะเร็งพวก ไนโตรซามีนส์ ในสารถนอมอาหาร พวกดินประสิว มะเร็งถุงน้ำดี อาการเหมือนถุงน้ำดีอักเสบ คือ เจ็บปวด ชายโครงขวา ถุงน้ำดีโต ท้องอืด ปวดท้อง น้ำหนักลด มีไข้ หรือเป็นดีซ่าน ส่วนอาการของมะเร็งท่อน้ำดีมักเกิดอาการของดีซ่าน มีไข้ ปวดท้อง

    10. มะเร็งตับอ่อน

      พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง การตรวจวินิจฉัยค่อนข้างยาก และอาการจะปรากฎเมื่อ มะเร็งมักจะลุกลามมากแล้ว สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยบางอย่างเชื่อว่าอาจทำให้เกิด มะเร็งตับอ่อนได้ คือ บุหรี่ และโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจะมีอาการของตัวเหลือง ตาเหลืองจากการอุดตันของท่อน้ำดี ที่หัวตับอ่อนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะคลำได้ก้อนที่ท้อง มีตับโต ถุงน้ำดีโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

    11. มะเร็งลำไส้และทวารหนัก

      ส่วนมากพบในวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป สาเหตุไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันคือ สิ่งแวดล้อม อาหาร และพันธุกรรม โดยเริ่มแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อมีอาการมากขึ้น อาจมีอาการปวดท้อง ท้องผูก และท้องเสียสลับกันบ่อยผิดปกติ ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป อาจมีขนาดเล็กลง หรือมีเลือดออกมาปะปน ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะกินอาหารในปริมาณเท่าเดิม การวินิจฉัยจะตรวจเลือดในอุจจาระและการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

    12. มะเร็งรังไข่

      พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี พบได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงพบว่าในประเทศ อุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม พบในสตรีที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย และ.ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร จะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าคนปกติ โดยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการท้องอืดเป็นประจำ มีก้อนในท้องน้อย ปวด แน่นท้อง ถ้าก้อนมะเร็งโตมากจะกดกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ส่วนปลาย ทำให้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก การวินิจฉัยอาจคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย การคลำพบก้อนรังไข่ได้ในสตรีวัย หมดประจำเดือน การทำแพพสเมียร์จากในช่องคลอด ส่วนบนทางด้านหลัง อาจพบเซลล์มะเร็งของรังไข่ หรือการการตรวจด้วยเครื่องความถี่สูง

    13. มะเร็งมดลูก

      พบได้น้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก พบในสตรีที่อายุ 40-60 ปี มักพบภายหลังหมดประจำเดือนแล้ว มักเกิดในสตรีที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุมาก สตรีที่เคยได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน หรือเคยได้รับการฉายรังสีที่บริเวณเชิงกราน กรรมพันธุ์ และมักพบร่วมกันโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยมีอาการมีเลือดออกทางช่องคลอด ในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือมีเลือดออกผิดปกติในสตรีที่ยังคงมีประจำเดือนอยู่ คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อย มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง เนื่องจากมดลูกโตไปกดแผงประสาท การวินิจฉัยโดยการตรวจภายใน อาจเห็นมีเลือดออกจากโพรงมดลูก คลำได้ มดลูกโต การขูดมดลูก เพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

    14. มะเร็งกระดูก

      พบได้น้อยร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยมีก้อนแข็งหรือปุ่มยื่นออกมาจากกระดูก ก้อนจะโตเร็ว ต่อมาจะมีอาการปวด ร่วมด้วย บางรายมาด้วยอาการกระดูกหักแตกได้ง่าย การวินิจฉัยโยแพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และต้องอาศัยเอกซเรย์ร่วมด้วย บางรายแพทย์อาจตัด ชิ้นเนื้อไปตรวจดูทางพยาธิวิทยา

    15. มะเร็งผิวหนัง

      พบได้น้อยร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยมีสาเหตุจากผิวหนังส่ถูกแสงแดดเป็นระยะเวลานาน ๆ จากยาที่มีส่วนประกอบของสารหนู เมื่อกินนาน ๆ จะทำให้ เป็นโรคผิวหนัง และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด และหูด ไฝ ปาน หรือแผลเรื้อรังที่มีการระคายเคืองเป็นเวลานาน ๆ อาการเริ่มต้นเป็นแผลเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ขรุขระ อาจมีสีดำที่ขอบ ๆ และเมื่อเป็นมาก จะเป็นก้อนคล้ายดอกกะหล่ำปลี ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว

    16. มะเร็งต่อมลูกหมาก

      ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่พบมากในเพศชายที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจมีอาการปวดหลัง ปวดกระดูกร่วมด้วย

    17. มะเร็งเม็ดเลือดขาว

      เกิดจากที่เซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเติบโตผิดปกติ ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากในกระแสเลือด ทำให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยมาจากทางกรรมพันธุ์และการติดเชื้อไวรัส การได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง และกัมมันตภาพรังสี สามารถทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยมีอาการเลือดจาง ตัวซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือก เป็นจ้ำตามตัว มีต่อมน้ำเหลืองโต และมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย มีไข้

    18. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

      เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ มีการเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็ว โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ๊อดกิ้น (Hodgkin’s Lymphoma) ส่วนมากพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว 2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนันฮ๊อดกิ้น (Non-Hodgkin’s Lymphoma) มักพบในผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีการติดเชื้อโรคเอดส์ และพบในคนไทยมากกว่าชนิดฮ๊อดกิ้น โดยมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีก้อนที่โตเร็วไม่เจ็บบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ปวดท้อง ท้องเสียเรื้อรัง มีแผลเรื้อรังที่กระพุ้งแก้ม โพรงจมูก มีไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ

    19. มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท

      แบ่งได้เป็น 1. เนื้องอกของสมอง กลุ่มนี้พบได้มากที่สุด 75% 2. เนื้องอกของไขสันหลัง พบได้ 20 % 3. เนื้องอกของประสาทส่วนปลาย พบน้อยกว่า 5% สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วอย่างผิดปกติของเซลล์อื่น ๆ ในระบบประสาท

    20. มะเร็งทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ชาย

      สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงพอสรุปได้ ดังนี้ 1. อายุ มะเร็งของไต กระเพาะปัสสาวะ มักพบในอายุ 50-70 ปี มะเร็งขององคชาตพบในคนวัยกลางคน และมะเร็งอัณฑะ พบในวัยหนุ่มฉกรรจ์ 2. มะเร็งของไต และกรวยไต มักเกิดร่วมกับการอักเสบเรื้อรังและนิ่วในไต จากการกินยาแก้ปวดประเภทฟินาซีตินมากเกินไป 3. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดบ่อยในคนที่สูบบุหรี่จัด คนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรมสีย้อมผ้า คนที่มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นนิ่วในกระเพาะ ปัสสาวะ 4. การกินอาหารที่มีไขมันมาก หรือสาเหตุทางพันธุกรรม 5. ลูกอัณฑะที่ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ มีอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งสูง 6. การเสียดสีเรื้อรัง ทำให้เกิดแผลไม่หายแล้วกลายเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งของถุงอัณฑะ โดยมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ลิ่มเลือด ในมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะร็งของไต ปัสสาวะขัด ต้องเบ่ง หรือปัสสาวะออกกระปริบกระปรอย ในมะเร็ง ของต่อมลูกหมาก มีแผลเรื้อรัง หนังหุ้มอวัยวะเพศหรือหนังหุ้มลึงค์ไม่เปิด มีอาการคันภายในหรือมีเม็ดที่คลำได้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง ไอ ปวดกระดูก พบในระยะที่มีการกระจายของมะเร็งไปแล้ว

    21. มะเร็งจีสต์ (GIST — Gastrointestinal Stromal Tumor)

      ถือเป็นโรคใหม่สำหรับคนไทยโดยเป็นที่รู้จักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง เป็นมะเร็งทางเดินอาหารที่พบน้อยมาก เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผนังทางเดินอาหารโดยมีการแบ่งเซลล์และเพิ่มจำนวนมากและขาดการควบคุม เมื่อมีขนาดโตขึ้นจะโตออกนอกผนังทางเดินอาหารและจะกดทับอวัยวะข้างเคียงมะเร็งจีสต์พบได้บ่อยที่สุดบริเวณกระเพาะอาหาร 55% รองลงมาพบที่ลำไส้เล็ก 30% และหลอดอาหาร 5 % อาจจะพบได้ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ รังไข่ และมดลูกสาเหตุของการเกิดโรคพบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ ที่เรียกว่า “ Interstitial cellof Cajal (ICC) ” โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนส์พันธุกรรมบริเวณตัวจับบนผิวเซลล์ ที่เรียกว่า C-kit หรือ CD117 ทำให้เซลล์เหล่านั้น มีการเพิ่มจำนวนมากผิดปกติและขาดการควบคุม ทำให้เกิดเนื้องอกขนาดใหญ่สาเหตุของการกลายพันธุ์ ซึ่งไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

การตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ มาตรการในการค้นหาโรคมะเร็งระยะแรกเริ่มในผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง โดยการตรวจคัดกรองสำหรับโรคมะเร็งต่างๆ (Screening for Specific Cancer) เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการตรวจ คัดกรองโรคมะเร็งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง หรือกังวลว่าจะเป็นมะเร็งนั้น นับว่ามีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรค ในขณะเดียวกัน หากมีการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากการเป็นมะเร็งใน อัตราที่สูงและทำให้คนที่เป็นมะเร็งมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้เช่นกัน

  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ทำได้โดยการตรวจหาค่า PSA (สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากและการพบแพทย์เพื่อตรวจขนาดต่อมลูกหมากทางทวาร (rectal examination) โดยแนะนำในคนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งตับ โดยการเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ (liver function test) ค่าของ AFP(สารบ่งชี้มะเร็งตับ) และการอัลตราซาวน์ตับ
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี โดยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก 10 ปี ตรวจอุจจาระ โดยอาจร่วมกับส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก ทุก 5 ปี การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonography ทุก 5 ปี และการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ชื่อว่า CEA
  • มะเร็งปอด ตรวจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำกว่าปกติ เรียกว่า low-dose CT ซึ่งจะมีจำกัดอยู่เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น
  • มะเร็งเต้านม ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ควรจะต้องเริ่มมีการตรวจเต้านมตัวเองสม่ำเสมอ แนะนำให้ตรวจหลังการหมดช่วงมีประจำเดือน และให้พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก1-3 ปี เมื่อมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แนะนำเริ่มมีการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี และตรวจด้วยตัวเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นผู้หญิงที่มีความเสี่ยงมากกว่าทั่วไป เช่น เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน เคยตรวจเจอเนื้อเต้านมชนิด LCIS เคยฉายแสงก่อนอายุ 30 ปี บริเวณหน้าอก มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเป็นมะเร็งทางพันธุกรรมเต้านม รังไข่ อาจต้องเริ่มตรวจแมมโมแกรมที่อายุ 30 ปี และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทุก 6-12 เดือน หรือตรวจแมมโมแกรมอาจไม่พอ บางรายอาจต้องตรวจ MRI หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมด้วย และการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งคือ CA27-29
  • มะเร็งปากมดลูก อายุ 21-29 ปี ให้ตรวจ Pap test ทุก 3 ปี เป็นการตรวจภายในและตรวจเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก อายุ 30-65 ปี ให้ตรวจ Pap test ทุก 3 ปี อาจต้องมีการตรวจเชื้อ HPV เพิ่มเติม โดยทำทุก 5 ปี
(แหล่งทีมาข้อมูล 1)
(แหล่งทีมาข้อมูล 2)